ไลฟ์สไตล์

"ชัชชาติ" กี่ทีก็ "มีเฮ"

"ชัชชาติ" กี่ทีก็ "มีเฮ"

21 ก.ย. 2562

รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 21-22 ก.ย.62

 

 

แก่นแท้ของกลยุทธ์ คือการเลือกว่าอะไรไม่ควรทำ” นี่เป็นคำกล่าวของไมเคิล พอร์ตเตอร์ กูรูด้านกลยุทธ์ แต่ก็ยังเป็นข้อคิดที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ใช้อ้างเอ่ยราวกับเป็นคัมภีร์ชีวิต

 

และตอนนี้ดูเหมือนว่าอดีตรัฐมนตรี (ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี) ผู้นี้ ได้เดินทางมาถึงจุดที่ต้องเลือกทำในสิ่งที่ควรทำอีกครั้งแล้ว กับข่าวการเตรียมลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ สังกัด กลุ่มกรุงเทพที่ดีกว่าเดิม”

 

งานนี้วิเคราะห์กันฟุ้งว่าการที่ชัชชาติจะลงสมัครแบบอิสระ เพราะไปคุยกับเจ้าของพรรคที่ต่างประเทศแล้ว รู้ว่าหากสวมเสื้อพรรคเพื่อไทยอาจไม่ชนะ หรือว่านี่่เป็นเพียง “ยุทธศาสตร์” ในการสู้ศึกเพื่อให้พรรคอนาคตใหม่เลือกไม่ส่งผู้สมัครแข่ง เพื่อหันมาสนับสนุนเขา ไม่ให้ตัดคะแนนกันเอง 

 

แต่ก็ยังมีข่าวว่าชัชชาติจะร่วมตั้งพรรคใหม่กับกรณ์ จาติกวณิช เบี้ยตัวใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์

 

ไม่ว่าความจริงจะเป็นยังไง แต่เมื่อข่าวเม้าท์ข่าวมอยกระเซ็นกระสายมากมายเวลานี้ ย่อมแปลว่าคนชื่อชัชชาติไม่เคยตกกระแสไปจากความสนใจของคนไทย ทำไมเป็นเช่นนั้น?

 

 

 

อย่างดีตราไก่

 

คนไทยเห็นหน้าชัชชาติแล้วแทบไม่ต้องสาธยายศักยภาพ แต่จะกล่าวถึงอีกสักครั้งก็ยังฟังได้

 

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หรือ “ทริป” เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2509 พร้อมกับ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ “ทัวร์” ที่เป็นพี่ฝาแฝด

 

 

\"ชัชชาติ\" กี่ทีก็ \"มีเฮ\"

 

 

และยังมีพี่สาวอีกคนคือ ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

บิดา-มารดาคือ พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กับจิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ สกุลเดิม “กุลละวณิชย์”

 

ชัชชาติจบมัธยมจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นจบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จบวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิอานันทมหิดลประจำปี 2530

 

เรียนจบกลับมาอย่างหล่อ ดร.ชัชชาติ เข้าทำงานเป็นวิศวกรโครงสร้างในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาในปี 2538 เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนขึ้นเป็นรองศาสตราจารย์ไปจนถึงผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายจัดการทรัพย์สิน ตั้งแต่ปี 2548-2555 นอกจากนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง

 

จนที่สุดชื่อ “อาจารย์ทริป” ของนักศึกษาก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองยุคทักษิณ 2 ไล่มาจนถึงรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เขาบอกว่าทำในนามนักวิชาการให้คำปรึกษาทางเทคนิคอยู่ที่กระทรวงคมนาคมมาหลายสมัย

 

 

 

สุดแข็งแกร่ง

 

เมื่อถึงวันที่นายกรัฐมนตรีชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่ากันว่าชัชชาติคือคนที่นายกฯ หญิงยกหูต่อสายด้วยตนเองขอให้มาร่วมงานกันที่พรรคเพื่อไทย

 

งานแรกกับหญิงปู ดร.ทริป นั่งรมช.คมนาคม ช่วงเดือนมกราคม 2555 จากนั้นวันที่ 27 ตุลาคมปีเดียวกัน ก็ขยับขึ้นไปนั่งเจ้ากระทรวงเต็มตัว ได้รับมอบหมายงานหลายอย่าง

 

 

\"ชัชชาติ\" กี่ทีก็ \"มีเฮ\"

ภาพวันวาน

 

 

จนได้มาเป็นรัฐมนตรีที่คนไทยพูดถึงมากที่สุดจากบทบาทในการผลักดันเมกะโปรเจกท์ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม โครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย

 

19 กันยายน 2556 ชัชชาติยืนเด่นเป็นสง่าในรัฐสภาต่อหน้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่หวาดหวั่น ในการอภิปรายว่าสองล้านล้านบาทในโครงการนี้ “ได้มากกว่าเสีย” 

 

แต่อย่างที่รู้ไฟท์นั้นชัชชาติไม่ได้ไปต่อ แถมต่อมารัฐบาลบาลปูยังพ่ายแพ้รัฐประหาร แต่ชัชชาติลงจากเวทีอย่างชนะใจคนไทยเข้าเต็มเปา และคำว่า “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ก็ติดตัวเขามานับจากนั้น

 

และยังลามไปได้ใจคนรุ่นใหม่กับภาพลักษณ์ รัฐมนตรีติดดิน” ที่ลงพื้นที่ดูงานด้วยตนเอง นั่งวิน โบกรถเมล์ โหนรถสองแถว ต่อคิวขึ้นรถไฟ

 

เป็นภาพที่ถูกใจคนไทยว่านี่คือนักการเมืองที่เข้าถึงง่าย ใครไปสวนลุมฯ ตอนเช้าจะเจอเขามาออกกำลังกายแทบทุกวัน ร่วมกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ขาด ทั้งปั่นจักรยาน วิ่งมาราธอน ฯลฯ

 

 

\"ชัชชาติ\" กี่ทีก็ \"มีเฮ\"

ขวัญใจคนรุ่นใหม่

 

 

ลองนึกดูว่าจะมีรัฐมนตรีไทยคนไหนบ้างที่เข้าไปทำบุญที่วัด โดยสวมเสื้อแขนกุด หิ้วถุงอาหาร และเดินด้วยเท้าเปล่าจนมีผู้คนนำไปเป็น “มีม” มากมายหลายท่า อย่างชื่นชอบกันสุดๆ

 

ก่อนนี้เขาให้สัมภาษณ์เดอะสแตนดาร์ด บอกว่าตัวเองเป็นคนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษ และยัง เปลี่ยนไปตามบริบท” ที่กลัวที่สุดคือกลัวคนผิดหวังในตัวเขา

 

 

 

จากแคนดิเดตนายกฯ

 

อย่างที่รู้ก่อนนี้บริบทรอบตัวชัชชาติ ทำให้เขาขึ้นชั้นถึงขนาดไปอยู่ในลิสต์แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถามว่าแค่นี้เพียงพอหรือยังในคุณสมบัติผู้ว่าฯ กทม. หลายคนบอกว่า “เหลือเฟือ”

 

แต่ในทางหนึ่งตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ก็ยังมีความพิเศษ ไม่เพียงเชิงกายภาพที่สถานะของกรุงเทพฯ เป็นเขตปกครองพิเศษ มิได้นับเป็นจังหวัด แต่ในเชิงสังคมแล้วสนามกทม. ถือเป็นสนามวัดพลังทางการเมืองอย่างชัดเจน

 

 

\"ชัชชาติ\" กี่ทีก็ \"มีเฮ\"

 

 

ก็อย่าเพิ่งดูเบาว่าสนามกทม.จะเป็นขนมกรุบกรอบของคนชื่อชัชชาติ ที่ผ่านมาเคยมีปรากฏการณ์แปลกๆ ในการเลือกพ่อเมืองคนกรุงมาเยอะ ไม่งั้นหลายพรรคคงไม่ทั้งเลือกทั้งเฟ้นตัวแทน แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุดยังแว่วๆ ว่ามีทั้งอภิรักษ์ที่จะกลับมาลงสมัครคืนถิ่น และ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ก็ยังมีหยอดชื่อออกมาให้ได้ยินด้วย

 

แต่อย่าลืมว่าเอาเข้าจริงๆ สนามพ่อเมืองกทม. จะบอกว่าแล้วแต่ “อารมณ์” ของคนกรุง และข้อมูลข่าวสารในแต่ละช่วงเวลาก็ว่าได้

 

เช่นปี 2543 พรรคไทยรักไทยมาใหม่ ก็ชิมลางสนามท้องถิ่นก่อน โดยส่ง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ลงชิงชัย แต่ได้ “สมัคร สุนทรเวช” คนจากพรรคเก่าแก่มาแทน

 

ปี 2547 พรรคประชาธิปัตย์ทำสำเร็จกับ อภิรักษ์ โกษะโยธิน” จะว่าเพราะคนกรุง “เอาคืน” เสี่ยแม้ว ก็จะดูเบาชื่อชั้นของ “หล่อเล็ก” ไปหน่อย เพราะพอปี 2551 อดีตพ่อเมืองชื่อ “ต้อม” ก็กลับมานั่งเก้าอี้เสาชิงช้าอีกครั้ง

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่าบรรดาผู้สมัครอิสระก็ไม่เคยตกไปจากความนิยมของคนกรุง เช่นปี 2528 สมัยของ “จำลอง ศรีเมือง” เขาก็มาในนามอิสระ “กลุ่มรวมพลัง” หรือปี 2539 “พิจิตต รัตตกุล” มาในนามอิสระ “กลุ่มมดงาน” 

 

ขณะที่ผู้สมัครอิสระคนอื่นแม้จะสอบตกแต่คะแนนนิยมก็มากอยู่ เช่นปี 2551 “ป๋าชู" ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้คะแนนมาเป็นที่สาม รองจากอภิรักษ์ และ "ประภัสร์ จงสงวน" จากพรรคพลังประชาชน

 

ดังนั้นความท้าทายของชัชชาติคงไม่ได้อยู่ที่ฝีมืออย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่อารมณ์ของคนกรุงอีกด้วย

 

 

 

ข่าวลือ ความคาดหวัง

 

ข่าวสารรอบตัวชัชชาติ ข่าวหนึ่งที่สัมผัสได้ว่าคนไทยไม่ผิดหวัง คือวันนี้ชัดเจนแล้วว่าเขาจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระกลุ่มกรุงเทพที่ดีกว่าเดิม

 

 

\"ชัชชาติ\" กี่ทีก็ \"มีเฮ\"

 

แต่กลับยังมีอีกข่าวที่อยู่ๆ ก็แพร่กระจายออกมาทำเอาแฟนคลับขมวดคิ้ว ว่าอดีตรัฐมนตรีสองขั้วการเมืองอย่าง ชัชชาติ และ “กรณ์ จาติกวณิช” จากพรรคประชาธิปัตย์ จับมือกันตั้งพรรคใหม่เพื่อประกาศท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

 

ล่าสุดทั้งคู่ออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่เป็นความจริง เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์หลายคนก็อ่านเกมออกว่านี่คือ “ข่าวลวง” เพียงแต่เป็นเกมของฝ่ายไหน ยังน่าคิด

 

อย่างไรก็ดีหันมาที่ชัชชาติ ดูเหมือนว่าข่าวนี้ไม่ระคายเขาเท่าไหร่ แถมยังทำให้ภาพของความเป็น “อิสระจากพรรคการเมือง” ดู “สมจริง” มากขึ้นไปอีก

 

วันนี้กลุ่มของเขาจึงเดินหน้าเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของกลุ่มช่วงหาเสียง โดยกลุ่มกรุงเทพที่ดีกว่าเดิมเป็นการรวมตัวของนักวิชาการ นักธุรกิจ และประชาชน

 

ประกาศว่าต้องการร่วมมือทำงานกับทุกภาคส่วนและทำงานอย่างอิสระจริงๆ ไม่มีพรรคอยู่เบื้องหลัง

 

 

\"ชัชชาติ\" กี่ทีก็ \"มีเฮ\"

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช

 

 

ไล่รายชื่อในกลุ่มยังมีตัวละครหลักที่อยู่เบื้องหลังคือ “ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช” หรือ “ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์” หรือ “ผู้กองมาร์ค” อดีตผู้สมัครส.ส.กรุงเทพฯพรรคเพื่อไทย

 

ตอนนี้หากถามว่าเราคาดหวังอะไรจากตัวชัชชาติ ก็คงเหมือนที่เราคาดหวังจากผู้นำทุกคนที่เลือกเข้าไปทำงาน

 

แต่ที่แตกต่างคือคนกรุงยังไม่เคยเห็น “ผู้ว่าฯ กทม.ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” บางทีหลายคนอาจมีกำลังอารมณ์อยากจะเห็นสิ่งนี้สักครั้ง

 

***********************