3บาดแผลที่'คลองสามวา'
3 บาดแผลที่ คลองสามวา โดย เสถียร วิริยะพรรณพงศา
กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กระหน่ำซ้ำเติมวิกฤตให้หนักเข้าไปอีกเมื่อม็อบคน พุ่งชนมวลน้ำ แบบไม่บันยะบันยัง ก่อตัวสร้างแรงกดดันรัฐบาลไม่ให้จัดการน้ำตามแผนที่วางไว้ ลำพังแค่ระบายน้ำ 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ให้ลงทะเลด้วยความสงบก็ต้องใช้เวลาแรมเดือนอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอแรงบีบจากมวลชนทั้งบีบให้เปิดประตูระบายน้ำทั้งพังคันกั้นน้ำเข้าไปอีก ทำให้สถานการณ์มันยิ่งเลวร้ายหนัก
สภาพบ้านเมืองที่กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ชาวบ้านเฮโลกันพังกั้นน้ำ บีบบังคับให้เปิดประตูระบายน้ำ ลุกขึ้นมาพังกระสอบทราย แทบจะทั่วประเทศ เป็นบทสะท้อนว่าการบริหารน้ำของรัฐบาลสำเร็จหรือล้มเหลว
กรณี “คลองสามวา” เป็นตัวอย่างที่เห็น “จุดอ่อน” ของระบบได้อย่างชัดเจนอย่างน้อย 3 ประการ
1.ตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างกทม.และศปภ. ในช่วงที่มีการชุมนุมปิดถนนของคนคลองสามวาครั้งแรก กทม.ยอมให้เปิดประตูระบายน้ำชั่วโมงละ 5 ซม.ค่อยๆระบายน้ำให้ไหลลงไป เพราะกทม.ประเมินว่าการเปิดมากๆอย่างรวดเร็ว จะทำให้ชาวบ้านจะยิ่งเดือดร้อนหนักเพราะเมื่อคลองสามวาแห้งลงก็จะดึงมวลน้ำมหาศาลจากคลองหกวาสายล่างที่อยู่ด้านเหนือของคลองสามวาลงมาเติม และผลก็เป็นเช่นนั้นจริงๆเมื่อเปิดประตูเพิ่ม 1 เมตร แถมมีรูที่ชาวบ้านไปพังไว้ทั้งซ้ายขวา นอกจากจะไม่ทำให้น้ำลดลง ก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย แสดงว่าวิธีคำนวณของกทม.ถูกต้องแต่รัฐบาลกลับไม่เชื่อ
2.โรคการเมืองแทรกแซงการบริหารน้ำอย่างชัดเจน ก่อนหน้านี้ศปภ.แจ้งกับกทม.ว่ายุทธศาสตร์สำคัญคือการปกป้องนิคมอุตสาหกรรมบางชัน อย่างเต็มที่ ซึ่งหมายถึงต้องควบคุมน้ำจากคลองสามวาไม่ให้ไหลมากเกินไป แต่เมื่อชาวบ้านลุกฮือขึ้นมาเรียกร้อง ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยทั้งจิรายุ ห่วงทรัพย์ หรืออดีตส.ส.ในพื้นที่วิชาญ มีนชัยนันท์ รีบเข้ามารับปากกับชาวบ้านเปิดประตู 20 เซนติเมตร ทันที ที่ชัดเจนกว่านั้นคือนายวิชาญ เป็นคนเข้าไปยกบานประตูขึ้นเองทั้งๆที่หน้าที่นี้อยู่ที่กทม.หรือไม่ก็กรมชลประทาน ไม่ใช่หน้าที่ส.ส.พฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่เรียกว่าการเมืองแทรกแซงแล้วจะเรียกว่าอะไร
3.ขาดยุทธศาสตร์การบริหารความเป็นธรรมในสังคม เพราะชาวคลองสามวาที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องทุบหูช้างประตูระบายน้ำจนพัง ก็เป็นเพราะพวกเขาถูกน้ำเอ่อท่วมกว่าเมตรครึ่ง ยาวนานเกือบ 2 เดือน หลายครัวเรือนไม่สามารถอยู่ในบ้านได้ ต้องนอนอยู่บนถนนเลียบคลองสามวา ไร้ผู้คนมาเหลียวแล กระทั่งตกเป็นข่าวใหญ่
ถ้ารัฐบาลมียุทธศาสตร์ว่าจะปกป้องนิคมอุตสาหกรรม โดยแลกกับความเดือดร้อนของชาวคลองสามวา รัฐบาลก็ต้องมีระบบในการสร้างความเป็นธรรมให้พวกเขาในฐานะที่พวกเขาเป็นผู้เสียสละ
เช่น รัฐบาลอาจจะขอความร่วมมือภาคเอกชนในนิคมอุตสาหกรรมให้จ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านที่ต้องรับน้ำแทนโรงงานทั้งหลายก็จะเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความเป็นธรรม เพราะความเป็นธรรมไม่ใช่ว่าจะต้องปล่อยให้น้ำท่วมทั้งหมดทุกคน แต่เป็นการบริหารความสุขความทุกข์ของคนในสังคมให้ลงตัวมากที่สุด
ถ้าไม่รีบรักษาบาดแผลทั้ง 3 ที่เกิดขึ้น ไม่มีทางที่รัฐบาลจะ “เอาอยู่”
............
(หมายเหตุ : 3 บาดแผลที่ “คลองสามวา” โดย เสถียร วิริยะพรรณพงศา)