ย้ายเมืองหลวง?
ย้ายเมืองหลวง?: วันเว้นวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ กับ ประภัสสร เสวิกุล
ความคิดเรื่องการย้ายเมืองหลวงของประเทศไทยจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ที่อื่น ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าน่าจะมีมาตั้งแต่หลังวิกฤติการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) ที่ไทยกับฝรั่งเศสเกิดกรณีพิพาทกันเรื่องดินแดนลาวพวน และฝรั่งเศสส่งเรือปืนแล่นผ่านป้อมพระจุลฯ เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา มาจอดคุมเชิงที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส เขตบางรัก เพื่อแสดงอำนาจข่มขู่รัฐบาลสยาม แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะทรงพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และทรงเลือกที่จะใช้วิเทโศบายเพื่อสร้างดุลอำนาจระหว่างจักรวรรดินิยมยุโรป และปรับปรุงประเทศให้มีความทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ มากกว่าการจะย้ายเมืองหลวงหนีฝรั่ง
การย้ายเมืองหลวงที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเป็นราว เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งมั่นในประเทศไทยตามสนธิสัญญามิตรภาพระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เป็นเหตุให้เครื่องบินสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ในกรุงเทพฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น จึงมีดำริที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ในพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ซึ่งก็คือจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ภูมิประเทศเป็นป่าทึบและเขาสูง อากาศดี จนได้รับฉายาว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์ของประเทศไทย” อย่างไรก็ตาม เพชรบูรณ์ในเวลานั้นมีปัญหาเรื่องความทุรกันดารและโรคภัยไข้เจ็บ ประกอบกับสงครามยุติลง และจอมพล ป.พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้การย้ายเมืองหลวงในครั้งนั้นต้องล้มเลิกลง
อีกจังหวัดหนึ่งซึ่งเกือบจะมีโอกาสได้เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ก็คือจังหวัดลพบุรี เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะไม่มีตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็ยังคงเป็นผู้บัญชาการทหารบกและมีบารมีทางการเมืองเป็นอย่างสูง ได้ไปตั้งมั่นอยู่ที่จังหวัดลพบุรี โดยมีข่าวว่ารัฐบาลจะสั่งปลดจอมพล ป. ทำให้สถานการณ์ค่อนข้างจะอึมครึม จนในที่สุด พ.ต.ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ต้องเดินทางไปพบจอมพล ป.ที่ลพบุรี และภายหลังการพบปะ จอมพล ป.ก็ยืนยันจะให้ความสนับสนุนรัฐบาลของ พ.ต.ควง ทำให้ความขัดแย้งสงบลง จน จอมพลผิน ชุณหะวัณ ก่อการปฏิวัติในเวลาต่อมา และเชิญจอมพล ป.กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และจอมพล ป.ก็ดูเหมือนจะลืมเรื่องการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์หรือลพบุรีเสียสนิท และหันมาให้ความสนใจต่อการตั้งจังหวัดพุทธมณฑลแทน จนถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติ ใน พ.ศ.2500
การย้ายเมืองหลวง เริ่มเป็นข่าวขึ้นมาอีกครั้งในช่วงปลายสมัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเล็งไปที่จังหวัดนครนายก ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ นัก ส่วนคำว่านครนายกนั้น จริงๆ แล้ว มีที่มาจากในสมัยโบราณนั้นพื้นที่แห่งนี้เกิดความแห้งแล้งจนทางการต้องยกเว้นภาษีนาที่เรียกเก็บจากราษฎรให้ โดยมิได้หมายถึงนครของสมุหนายก หรือเมืองของนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด เรื่องการย้ายเมืองหลวงกลับมาเป็นเรื่องที่กล่าวขานกันใหม่ในช่วงน้ำท่วมปีนี้ จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม แต่เรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ใช่แค่จะคิดหรือพูดกันเล่นๆ อย่างน้อยที่สุดก็คงต้องคำนึงถึงสาเหตุที่แท้จริง ว่าเป็นเรื่องน้ำท่วม ความแออัดของกรุงเทพฯ การออกแบบเมืองหลวงใหม่ให้ทันสมัยเชิดหน้าชูตาประเทศ หรือความเชื่อส่วนบุคคล หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของการสร้างเมืองหลวงให้ตรงกับความต้องการ แต่ถ้าถามว่า การจะเลือกที่หนึ่งที่ใดเป็นที่สร้างเมืองหลวง ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง สิ่งแรกก็คือชัยภูมิที่เป็นศูนย์กลางของประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถดูแลและบริหารประเทศได้อย่างทั่วถึง ตามมาด้วยระบบสาธารณูปโภค และการคมนาคมหลัก และถ้าถามว่าเมืองหลวงในยุคปัจจุบันมีหน้าที่อย่างไรบ้าง? คำตอบก็คือ ในภาคราชการ เมืองหลวงเป็นที่ตั้งของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ในภาคการเมือง เมืองหลวงเป็นที่ตั้งของทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา ในภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมืองหลวงเป็นที่ตั้งของสถานทูตสถานกงสุล ซึ่งเป็นตัวแทนทางการทูตของมิตรประเทศและองค์การระหว่างประเทศ เมืองหลวงไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองท่า หรือแหล่งการเงินการธนาคาร แหล่งพาณิชยกรรม แหล่งบันเทิง หรือศูนย์อะไรต่อมิอะไรเช่นในอดีต
สมมติถ้าจะย้ายเมืองหลวงกันจริงๆ ก็คงต้องสร้างที่ทำการกระทรวงทบวงกรม สร้างทำเนียบรัฐบาล สร้างรัฐสภา สร้างระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคม และระบบโทรคมนาคม รวมทั้งจัดสรรพื้นที่สำหรับสถานทูตสถานกงสุล ที่พักอาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากมายมหาศาล แล้วก็คงมีคำถามตามมาว่า จะเอาอาคารรัฐสภาหลังใหม่ที่กำลังสร้างกันอยู่ตอนนี้ไปใช้ทำอะไร กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ที่มีอยู่เดิม รวมทั้งศูนย์ราชการ และในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบัน การลงทุนสร้างสถานทูตสถานกงสุลใหม่ของประเทศต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนักหรอกครับ
แต่ถ้ายังมีความต้องการจะย้ายเมืองหลวงให้ได้ ผมว่าที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือการย้ายทำเนียบรัฐบาลไปสร้างใหม่บนพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ อาจจะริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามกับรัฐสภา ให้โอ่โถงใหญ่โตเต็มที่ ซึ่งจะทำให้เกิดทัศนียภาพที่งดงาม และความสะดวกในการเดินทางติดต่อระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา หรือพุทธมณฑลที่ถูกน้ำท่วมขังอยู่ตอนนี้แหละครับ ต่อไปคนแถวนั้นจะได้หมดปัญหาเรื่องน้ำท่วมเสียที
แต่นั่นแหละครับการย้ายเมืองหลวงโดยไม่ได้เคลื่อนย้ายความคิดหรือตัวบุคคลในรัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาที่แท้จริง ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นหรอกครับ สุดท้ายแล้วก็อาจจะต้องไปสร้างเมืองอยู่กลางป่าอยู่กันในกลุ่มรัฐมนตรีแบบพม่าตอนนี้