
'กปปส.-ส.ว.'แบ่งภาคเดินหน้าหาชัยชนะ
'กปปส.-ส.ว.'แบ่งภาคเดินหน้าหาชัยชนะ : อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ สำนักข่าวเนชั่นรายงาน
"ข้อ 1 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวบรรลุเจตนารมณ์ในการคืนความสงบสุข และความสมานฉันท์ของคนในชาติ ต้องเร่งดำเนินการจัดให้มีการปฏิรูปประเทศในทุกด้านให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งจะต้องมีนายกรัฐมนตรี และครม.ที่มีอำนาจเต็ม เพื่อดำเนินการดังกล่าว"
"ข้อที่ 2 ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรี ผู้ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตามมาตรา 181 วรรคหนึ่ง และเรียกร้องให้รัฐบาลและพรรคการเมือง ให้ความร่วมมือกับวุฒิสภาในการหาทางออกประเทศภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชาติอย่างเต็มกำลัง เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและลดเงื่อนไขความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น"
"ข้อที่ 3 วุฒิสภาพร้อมที่จะทุ่มเทการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำความเห็นและข้อแนะนำจากทุกภาคส่วนมาพิจารณา และหากมีความจำเป็นจะจัดให้มีการประชุมตามข้อบังคับของวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระดับสากล และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุของไทยโดยเร็ว ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน"
สิ้นการอ่านแถลงการณ์ของ "สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย" ว่าที่ประธานวุฒิสภา คำถามที่มีขึ้นคงคล้ายๆ กันคือ "หมายความว่าอย่างไร ?" และ "อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?"
หากตีความตรงตัวแบบง่ายๆ จะเห็นว่า ใจความหลักอยู่ที่ข้อสาม ที่วุฒิสภาพร้อมจะเปิดประชุมเพื่อคัดเลือกนายกรฐมนตรี หากทุกอย่างพร้อม ซึ่งเป็นการเลี่ยงคำว่านายกรัฐมนตรี มาตรา 7 แต่ก็มองเป็นอย่างอื่นลำบากว่า หากเกิดภาวะสุญญากาศขึ้นมาจริงๆ วุฒิสภาก็พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นคนเลือกนายกฯ แม้หลายคนยังตั้งคำถามว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว วุฒิสภามีอำนาจหรือไม่
ที่สำคัญคือ หากถึงเวลาต้องทำจริงๆ "สุรชัย" กล้าที่จะทำหรือไม่ เพราะจนกระทั่งถึงนาทีนี้ เขายังไม่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเลย ทำให้สถานะของเขาจึงยังเป็นเพียง "รองประธานวุฒิสภา" ซึ่งไม่มีฐานะเป็นรองประธานรัฐสภา และยังคงเป็น "ว่าที่ประธานวุฒิสภา" อยู่ต่อไป
แต่ที่หลายคนประหลาดใจคือ ท่าทีของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ที่ทำคล้ายจะผิดหวัง เบื้องต้นโวยวายว่าวุฒิสภาไม่ยอมทำตาม มัวแต่รอเวลา ทำให้มวลมหาประชาชนต้องทำเอง ก่อนที่ยามค่ำคืนเหมือนจะคิดได้และยังไว้ไมตรี
โดยบอกว่า "ในการปราศรัยวันนี้ของผมอยากจะขอร้องพวกเราอย่าเพิ่งด่วนไปโกรธหรือตำหนิสมาชิกวุฒิสภา แต่อยากจะให้พินิจพิจารณาคำแถลงการณ์ดังกล่าวที่ออกมาให้ดี รวมทั้งอยากจะให้มีความเห็นใจสมาชิกวุฒิสภา เพราะพวกเขาคงจะพูดได้เพียงเท่านี้ และเขาคงจะแถลงได้เพียงแค่นี้ ซึ่งพวกเขาอาจจะมีความคิดเหมือนพวกเราเหมือนทุกอย่าง เขาอาจจะมีความเข้าใจที่อยากทำอย่างที่พวกเราต้องการทุกอย่าง แต่ว่ามันจะมีประเด็นหรือปัญหาที่เขาไม่อาจจะบอกกับพวกเราตรงๆ ได้"
จากนั้นวันรุ่งขึ้น "สุเทพ" ก็ประกาศโรดแม็พ "สงครามครั้งสุดท้าย" ที่คราวนี้เขาลั่นว่า หากไม่ชนะก็พร้อมที่จะเดินไปให้ตำรวจจับทันที ตารางเวลาที่เขาวางไว้เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม โดย 10.00 น. เชิญรัฐวิสาหกิจทุกเครือข่ายประชุม เพื่อมอบหมายภารกิจกันว่าแต่ละรัฐวิสาหกิจต้องทำอะไรบ้าง
ซึ่งสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. เป็นองค์กรที่ถือเป็นมือไม้ของการชุมนุมมาโดยตลอด และมีข่าวมาด้วยว่า อาจจะมีปฏิบัติการตัดสาธารณูปโภคบางอย่างกับพื้นที่เป้าหมาย
จากนั้นเวลา 14.00 น. ก็เชิญข้าราชการระดับปลัดกระทรวงหัวหน้าส่วนราชการ ที่เกษียณแล้วมาประชุม เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติสำหรับส่วนราชการต่างๆ
สำหรับวันที่ 19 พฤษภาคม ผู้ชุมนุมจะไล่ตามรัฐมนตรีรักษาการทั้ง 24 คน โดยระบุว่า เป็นการทวงคืนอำนาจคืนและจะให้รัฐมนตรีทั้งหมดส่งใบลาออก โดยจะติดตามไปทุกที่ไม่ว่ากระทรวง หรือที่บ้าน แต่ที่น่าสนใจคือ การที่ระบุว่า "ถ้าเจอตามสนามบินถนนหนทางก็ต้องเรียกร้องให้เขาส่งมา" เชื่อว่าภาพการชุมนุมในสนามบินเมื่อปี 2551 ยังติดตาใครหลายๆ คน
ขณะที่วันเดียวกัน "สุเทพ" ร้องขอให้ข้าราชการที่เป็น กปปส.ในกระทรวงลุกฮือปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งรัฐมนตรี ซึ่งปฏิบัติการทั้งของ "มวลชน" และ "ข้าราชการ" จะดำเนินไปถึงวันที่ 21 พฤษภาคม
จากนั้นวันที่ 22 พฤษภาคม กปปส.จะจัดประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ปลัดกระทรวง อธิบดี รวมถึงอัยการ ผู้ว่าราชการ มาประชุมเพื่อช่วยกันเพื่อล้มล้างอิทธิพลระบอบทักษิณ หากเป็นจริงนัยนี้คือการเรียกข้าราชการให้มารายงานตัวนั่นเอง ซึ่งถ้าถึงวันนั้นเราอาจได้เห็นว่า มีข้าราชการคนไหน กระทรวงไหนบ้าง ที่เชื่อฟัง กปปส.มากกว่ารัฐบาล
และวันที่ 23-25 พฤษภาคม ถูกระบุว่าจะเป็นวันชุมนุมใหญ่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้คนออกมามากๆ โดยกำหนดว่า การรู้แพ้ชนะจะทราบในวันที่ 26 พฤษภาคม และจะจบในวันนั้นเอง หากคนออกมาไม่มาก "สุเทพ" บอกว่า วันอังคารที่ 27 เขาก็จะมอบตัวสลายการต่อสู้
จังหวะก้าวเคลื่อนไหวครั้งนี้ จึงดูคล้ายเป็นการสอดรับกับวุฒิสภาเป็นยิ่งนัก เพราะมีคำอธิบายจาก ส.ว.อย่าง "คำนูณ สิทธิสมาน" ว่า การประชุมเพื่อคัดเลือกนายกฯ จะเกิดขึ้นนั้น ต้องมีเงื่อนไขที่พร้อม กล่าวคือ รัฐบาลรักษาการลาออกโดยความยินยอม
การเดินเกมของ กปปส.ครั้งนี้ จะทำให้อะไรต่อมิอะไรเข้าที่เข้าทาง จนเป็นเงื่อนไขให้ ส.ว.ต้องประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ยิ่งหากถอดรหัสคำแถลงของ ส.ว.แล้วจะเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นผลลบต่อการเรียกร้องของ กปปส.แม้แต่น้อย ซ้ำเป็นการแง้มประตูเงื่อนไขรอไว้เสียด้วยซ้ำ
ต้องไม่ลืมว่า วันนี้วุฒิสภาเองก็ยังแหยงๆ เพราะการกระทำอาจขัดต่อกฎหมายและสุ่มเสี่ยงมาก แต่หากรอการกระทำตอนสถานการณ์สุกงอมย่อมจะเหมาะสมและเป็นเกราะกำบังที่ดีกว่า
และเมื่อย้อนไปดูท่าทีของ ส.ว.ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีคนออกมาโวยว่า ส.ว.กำลังตามใจ กปปส. ทำให้มี ส.ว.กลุ่มหนึ่งเริ่มออกมาตำหนิการกระทำของ กปปส.ว่าทำไมต้องมากดดัน ขณะที่เมื่อผลออกมาไม่ได้เสนอตัวนายกฯ ทันที ก็มีเสียงตำหนิจาก "สุเทพ"
ภาพที่ออกมาจึงคล้ายกับทั้งสองกลุ่มกำลังแตกแยกกันอยู่ แต่จริงๆ แล้ว น่าจะเป็นการแบ่งภาคกันเล่นเท่านั้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีโดย ส.ว. และทูลเกล้าฯ ถวายโดย "สุรชัย" นี่เป็นแผนที่ถูกเขียนไว้ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมแล้ว ซึ่งสามารถย้อนไปดูตั้งแต่ช่วงต้นการชุมนุมได้
แต่หากเงื่อนไขต่างๆ ไม่เกิดอย่างที่หวัง ก็มีความเป็นไปได้ว่า เกมแรงจะถูกงัดขึ้นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการยึดสถานีโทรทัศน์ ยึดสามเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กระทรวงต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจจะเข้าเงื่อนไขที่ทหารต้องออกมารักษาความสงบ เพราะทหารอาจเป็นตัวช่วยสุดท้ายที่ใครบางคนใน กปปส.หวังว่าจะมาตามนัด
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ จึงเป็นการขยับพร้อมกันในทุกๆ ภาค โดยแต่ละคนมีบทบาทที่ถูกกำหนดไว้ให้เล่น และมีเป้าหมายร่วมเพียงหนึ่งเดียวคือ กระชากรัฐบาลลงจากอำนาจ ตั้งนายกฯ ของตัวเอง เมื่อเรียบร้อยแล้ว เกมใหม่จะถูกเปิดและเล่นโดยใครหรือเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่เอาไว้ว่ากันอีกครั้งหนึ่ง
........................................
(หมายเหตุ : 'กปปส.-ส.ว.'แบ่งภาคเดินหน้าหาชัยชนะ : อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ สำนักข่าวเนชั่นรายงาน)