ข่าว

เปิดโมเดลทั่วโลก 'สิทธิสตรีในการเมือง'

เปิดโมเดลทั่วโลก 'สิทธิสตรีในการเมือง'

08 มี.ค. 2558

เปิดโมเดลทั่วโลก 'สิทธิสตรีในการเมือง'

 
                         “ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมากอย่างเดียวฉันใด ความเท่าเทียมกันในทางการเมือง ก็ไม่ใช่การแข่งขันในลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอาฉันนั้น”
 
 
                         หลักการนี้เอง คือข้อเรียกร้องของ ทิชา ณ นคร อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผลักดันในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกคัดค้านและแขวนเอาไว้อย่างไม่มีกำหนด จนเป็นที่มาของการตัดสินใจลาออก
 
                         ประเด็นที่ "ทิชาและผู้ที่เห็นตรงกับเธอ" เสนอมีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.สัดส่วน "สตรี" ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ในสัดส่วน 30% สำหรับบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 76 และ 2.การผลักดันให้สมาชิกสภาท้องถิ่น ต้องมีสัดส่วนสตรีไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม สำหรับบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 215 ทั้งสองประเด็นถูกทักท้วงจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะทำให้คนไม่เท่าเทียมกัน 
 
                         อย่างไรก็ดี เรื่องนี้มีคำอธิบายจากทิชาและผู้สนับสนุนว่า ความเท่าเทียมและประชาธิปไตยที่แท้จริงหมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่าในสังคมได้มีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งสตรีก็คือคนกลุ่มหนึ่งในนั้น และสอดคล้องกับกติกาสากล แม้แต่ในองค์การสหประชาชาติ
 
                         ทั้งนี้ วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็น "วันสตรีสากล" ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1910 เพื่อเป็นการรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ศักดิ์ศรีและความเท่าเทียม ตลอดจนการพัฒนาด้านสตรีทุกมิติ ซึ่งนานาประเทศให้การยอมรับและมีส่วนร่วมในการสนับสนุน รวมไปถึงสิทธิสตรีในทางการเมืองด้วย
 
                         จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า มีจำนวนประเทศกว่าครึ่งในโลกที่กำหนดโควตาหรือสัดส่วนสตรีในการเลือกตั้งระดับต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายประกอบ หรือเป็นที่รับรู้กันในทางปฏิบัติ 
 
                         รูปแบบหรือโมเดลของการกำหนดสัดส่วนสตรีในทางการเมืองมี 3 โมเดลหลักๆ ซึ่ง "สถาบันพระปกเกล้า" เคยศึกษาเอาไว้ และนำเสนอในรายงานวิจัยโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี เมื่อปี 2556 และรายงานวิจัยการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาผู้นำและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงทางการเมืองและการตัดสินใจ ในปี 2557
 
                         รายงานสรุปว่า การส่งเสริมบทบาททางการเมืองของผู้หญิงด้วยระบบโควตา (Gender Quota) เป็นมาตรการที่เห็นผลมากที่สุดในการเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในองค์กรทางการเมือง เพราะเป็นการบังคับด้วยตัวบทกฎหมาย การใช้ระบบโควตาทำให้มีจำนวนผู้หญิงมากขึ้นในรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในหลายระดับ โดยในปัจจุบันมีระบบโควตาที่ประเทศต่างๆ นิยมใช้ทั้งหมด 3 ประเภท ดังนี้
 
                         1.โควตาตำแหน่งที่สำรองไว้ (Reserved seats) เป็นการกันตำแหน่งหรือที่นั่งในสภานิติบัญญัติสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่น ในประเทศอินเดียที่มีการสำรองที่นั่งทั้งผู้หญิง และสำหรับชนเผ่า ชนชั้นต่างๆ ในสภาหมู่บ้านและหน่วยท้องถิ่นซึ่งปกครองตนเอง (panchayats) เป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของสมาชิกสภาทั้งหมด ขณะที่ปากีสถานก็บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีการสำรองที่นั่งไว้สำหรับผู้หญิงจำนวน 60 ที่นั่ง จากจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งสิ้น 342 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 17  
 
                         2.โควตาผู้สมัครตามที่กฎหมายบังคับ (Legal candidate quotas) เป็นรูปแบบที่มีการกำหนดบังคับไว้ในกฎหมายให้พรรคการเมืองต้องจัดโควตาสำหรับกลุ่มสตรีหรือคนกลุ่มน้อยในการส่งผู้สมัครรับการเลือกตั้ง เช่น ฝรั่งเศส กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครชายและหญิงในสัดส่วนร้อยละ 50 ในทุกๆ เขตเลือกตั้ง โดยมีบทลงโทษด้านการเงิน ซึ่งพรรคจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของความแตกต่างระหว่างอัตราร้อยละของผู้สมัครชายหญิง แต่หากพรรคนั้นมีเงินทุนมากอยู่แล้ว ก็จะไม่ให้ความสนใจที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ก็ได้
 
                         ส่วนอินโดนีเซีย ระบุในกฎหมายพรรคการเมืองฉบับที่ 02/2011 ว่าจะต้องมีผู้หญิงอย่างน้อย 30% ที่ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และในกฎหมายการเลือกตั้งฉบับที่ 10/2008 ระบุว่าต้องมีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นผู้หญิงอย่างน้อย 30% ของผู้สมัครทั้งหมด โดยตามกฎหมายระบุว่า ในรายชื่อของพรรคที่เสนอมาในแต่ละ 3 อันดับต้องมีผู้หญิง 1 คน ซึ่งหากมีจำนวนไม่ถึง 30% พรรคนั้นๆ จะถูกปรับและจะเสียชื่อพรรค แต่ก็ยังสามารถลงแข่งขันได้ต่อ
 
                         3.โควตาแบบสมัครใจโดยพรรคการเมือง (Political party quotas voluntary) เป็นรูปแบบที่เปิดให้พรรคการเมืองใช้โควตาสำหรับผู้หญิงได้โดยสมัครใจ เช่น ในสวีเดน และนอร์เวย์ ระบบโควตาไม่ได้ถูกกำหนดบังคับในกฎหมาย รวมทั้งไม่ได้ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ แต่มีบทบัญญัติให้พรรคการเมืองต้องคำนึงถึงความเสมอภาคของหญิง-ชาย (เหมือนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ของไทย) 
 
                         ดังนั้น นโยบายโควตาขึ้นอยู่กับความสมัครใจของพรรคการเมืองเอง ซึ่งพรรคการเมืองก็นำระบบโควตาไปใช้เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นมาตรการภายในโครงสร้างพรรค เช่น การกำหนดสัดส่วนหญิง-ชายในคณะกรรมการพรรค การกำหนดสัดส่วนหญิง-ชายในบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ฯลฯ โดยรัฐบาลมีโครงการกระตุ้นหนุนเสริมพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ผู้ใหญ่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่มขึ้น เช่น การรณรงค์อย่างจริงจัง การจัดโครงการอบรมให้ความรู้แก่ผู้หญิงในเรื่องภาวะผู้นำและการตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงในกระบวนการต่างๆ ของพรรคการเมือง เป็นต้น
 
                         จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของ "ทิชาและผู้สนับสนุน" ตรงกับ 2 โมเดลแรก คือ โมเดลกำหนดสัดส่วนสตรีในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้งระดับชาติกับโมเดล รีเสิร์ฟ ซีท ในสภาท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้หมายถึงผู้บริหารท้องถิ่น
 
                         หลักคิดของ "ทิชาและผู้สนับสนุน" ก็คือ หากไม่มีข้อกำหนดเช่นนี้ สตรีที่ไม่ได้เป็นทายาทหรือตระกูลการเมือง ไม่มีเงินทองในการลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับผู้ชายหรือนักการเมืองที่มีทุนและตระกูลสนับสนุน รวมทั้งสตรีชายขอบ ย่อมไม่มีวันได้มีบทบาททางการเมืองเลย!
 
 
----------------------
 
 
เปิดโมเดลทั่วโลก \'สิทธิสตรีในการเมือง\'
 
 
วันสตรีสากล-การต่อสู้ยาวนาน
 
 
                         วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็น "วันสตรีสากล" (International Women's Day) จุดกำเนิดมาจากการที่เป็นวันที่กรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าในสหรัฐอเมริกา ได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบกดขี่ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน เริ่มต้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1857 หรือ พ.ศ.2400 และมีการชุมนุมประท้วงอีกในวันเดียวกันในปี ค.ศ.1907 และ ค.ศ.1908 ต่อมาในวันเดียวกันในปี ค.ศ.1910 ตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 และประกาศให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันสตรีสากล"
 
                         วันสตรีสากล ไม่ได้เป็นเพียงวันที่กลุ่มสตรีทั่วโลกร่วมฉลองกันเท่านั้น แต่เป็นวันที่องค์กรสหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้ร่วมเฉลิมฉลองด้วย และอีกหลายประเทศได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดประจำชาติ โดยกลุ่มสตรีจากทุกทวีปไม่ว่าจะแตกต่างกันโดยเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือ การเมืองก็ตาม ได้รวมตัวกันเพื่อฉลองวันสำคัญนี้ เพื่อรำลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้อันยาวนาน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคความยุติธรรม สันติภาพและการพัฒนา
 
                         วันสตรีสากล ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเฉลิมฉลองเหมือนงานประเพณีที่มักทำติดต่อกันทุกปี หากจะเป็นการตระหนักร่วมและให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานหญิง และสืบทอดเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ผู้หญิงได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย จากความรุนแรง และยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ได้รับการดูแลในด้านสวัสดิการ สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและเท่าเทียมในฐานะที่ผู้หญิงก็เป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม
 
 
----------------------