ส่องกองทุนหมู่บ้าน5.6หมื่นล้านใครได้ประโยชน์?
ส่องกองทุนหมู่บ้าน 5.6 หมื่นล้านใครได้ประโยชน์? : ทีมข่าวรายงานพิเศษ
“3 มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย” เป็นข้อสรุปจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 1 กันยายน 2558 ได้แก่ 1.ปล่อยสินเชื่อ “กองทุนหมู่บ้าน” แบบไม่คิดดอกเบี้ยนาน 2 ปี วงเงิน 5.9 หมื่นล้านบาท 2.จัดสรรเงินแบบให้เปล่าตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวนกว่า 7,000 ตำบล รวมวงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อจ้างงานในชนบท และ 3.จัดงบลงทุนให้ส่วนราชการที่เสนอ โครงการลงทุนขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงินรวม 1.6 หมื่นล้าน วงเงินรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาทยิ่งไปกว่านั้น คณะรัฐมนตรีได้กำชับซ้ำว่า ต้องเร่งรัดใช้จ่ายเม็ดเงินทั้งหมดลงสู่ระบบภายในปี 2558 นี้ ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 เดือน เพื่อให้เห็นผลงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้นว่าได้ผลหรือไม่
"กองทุนหมู่บ้าน” เป็นเหมือนยาวิเศษที่ทำให้ “รัฐบาลยุคทักษิณ” กลายเป็นฮีโร่มาแล้วเมื่อ 13 ปีที่แล้ว แต่ในวันนี้ยาขนานนี้ยังวิเศษอยู่หรือไม่?
ย้อนกลับไปดูเม็ดเงินที่กระจายไปทั่วประเทศครั้งแรกปี 2544 รัฐบาลใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารออมสินประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าอัดฉีดโดยตรงไปยังหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ ทั้งหมด 75,547 กองทุน
ระเบียบการกู้เงินช่วงแรกนั้น มีเพียงให้เลือก “คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน” ประมาณ 9-15 คน ทำหน้าที่ออกระเบียบข้อบังคับ รับสมัครสมาชิก จัดทำทะเบียนกองทุนและและเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร จากนั้นชาวบ้านเสนอโครงการให้กรรมการเห็นชอบ และรอรับเงินจัดสรร 1 ล้านบาทผ่านธนาคารออมสินได้ทันที
รัฐบาลกำหนดปรัชญากองทุนหมู่บ้านฯ ไว้ว่า 1.เสริมสร้างสำนึกชุมชนและท้องถิ่น 2.ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตหมู่บ้านด้วยภูมิปัญญาตนเอง 3.ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชน 4.เชื่อมโยงการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน ราชการ เอกชน และประชาสังคม 5 .กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน
แต่ดูเหมือนจะมีหมู่บ้านไม่กี่แห่งที่สามารถทำได้ตามปรัชญา หรือแนวคิดที่ตั้งเป้าไว้ แต่ทุกรัฐบาลก็ยังเสริมเม็ดเงินเข้าไปอย่างต่อเนื่อง เช่น ปี 2552 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใช้ชื่อว่า “กองทุนเอสเอ็มแอล” เพิ่มทุนเข้าไปเกือบ 2 หมื่นล้านบาท จากนั้นปี 2555 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเพิ่มทุนระยะที่ 3 เข้ามาอีก 5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสิ้นเงินที่จัดให้กองทุนหมู่บ้านไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท
“อุบล อยู่หว้า” ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เผยความรู้สึกแปลกใจ เมื่อรู้ว่าทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล คสช.จะเอาเงินลงไปแจกจ่ายในกองทุนหมู่บ้านอีกกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ผล มีหมู่บ้านน้อยมากที่เข้มแข็งพอจะใช้เงิน 1 ล้านบาท ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปัจจุบันหมู่บ้านที่เข้มแข็งช่วยเหลือตัวเองได้ก็ไม่ต้องการกู้ยืมเงินในลักษณะแบบนี้อีก ส่วนหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีปัญหา ส่วนใหญ่เป็นหนี้กองทุนไม่สามารถหาเงินต้นมาใช้คืนได้ ต้องกู้ยืมเงินมาหมุนเวียนเพื่อให้ดูเหมือนว่าบัญชีของกองทุนหมู่บ้านนั้นยังดูดี
“สงสัยอยู่ว่ามีชาวบ้านเยอะแค่ไหนที่ไปเรียกร้องเงินกองทุน? เพราะเวลานี้กลุ่มได้ประโยชน์มี 2 พวก คือ พวกนายทุนเงินกู้หรือกรรมการหมู่บ้านที่หารายได้จากการปล่อยดอกร้อยละ 3 ต่อเดือน ให้ชาวบ้านกู้มาจ่ายเติมในกองทุน ทำให้ดูเหมือนใช้เงินคืนแล้วกู้ใหม่ แต่จริง ๆ เป็นแค่จ่ายดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนอีกพวกหนึ่งคือพวกบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะเงินก้อนใหม่ หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท อาจทำให้ชาวบ้านได้เงินก้อนจริง แต่แบ่งกันแล้วเหลือไม่กี่หมื่นบาท ทำได้แค่จับจ่ายซื้อของในห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต สุดท้ายเงินก้อนนี้ กลุ่มได้ประโยชน์เต็มๆ คือพวกบริษัทยักษ์ใหญ่ขายของกินของใช้ เงินไม่ได้ถูกเอาไปทำรวมกลุ่มกิจกรรมทำเกษตรยั่งยืน หรือพัฒนาอาชีพคนในชุมชนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้”
ตัวแทนเกษตรกรข้างต้น เสนอความเห็นว่า การจ่ายเงินแบบเหมาเข่งให้เท่าๆ กัน เป็นการใช้เงินแบบไม่คิดเยอะ ทั้งที่รัฐบาลควรทำการบ้านสำรวจว่า แต่ละชุมชนมีความต้องการใช้เงินแตกต่างกันอย่างไร มีประสิทธิภาพในการดูแลเงินก้อนใหม่มากน้อยแค่ไหน
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นถึงการกำหนดไม่ให้นำเงินกองทุนหมู่บ้านก้อนใหม่ไปรีไฟแนนซ์ หรือใช้ชำระหนี้สินเดิมนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านยังเป็นหนี้สิน การหมุนเงินใช้คืนหนี้เก่าเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะเงินกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูง
“ที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงคือการทำบัญชีของชาวบ้าน แม้เป็นเงินกู้จำนวนไม่กี่หมื่นบาท แต่ถ้าไม่มีการทำงบการเงินหรือบัญชีครัวเรือน ก็เกิดปัญหาการชำระหนี้ไม่ได้อีก จุดประสงค์ของกองทุนหมู่บ้านที่ผ่านมาคือ การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอาชีพ สร้างงานยั่งยืน เงินก้อนใหม่นี้ควรกำหนดให้ความรู้ควบคู่กับการให้เงิน” นักวิชาการข้างต้นกล่าวแนะนำ
ทั้งนี้ กองทุนหมู่บ้าน หรือชื่อเต็มว่า “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ” หมายความว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลในต่างจังหวัดหรือคนกรุงเทพฯ ก็มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนนี้ด้วย เพื่อความเสมอภาคและเท่าเทียม แต่ส่วนใหญ่คนกรุงจะไม่ค่อยรู้ว่ามีเงินก้อนนี้ให้กู้ยืม
เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ อธิบายให้ฟังว่า มีการจัดสรรแบ่งเงินสำหรับเป็นกองทุนชุมชนเมืองทั่วประเทศประมาณ 4,000 กองทุน โดยในกรุงเทพฯ แบ่งไปตามสำนักงานเขต 50 เขต รวมทั้งหมด 950 กว่ากองทุน หากเป็นหมู่บ้านจะนับครัวเรือนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50 หลังคาเรือนจึงจะได้ 1 กองทุน แต่ในเขตชุมชนนั้นต้องมีประมาณ 100 หลังคาเรือนขึ้นไป
“สง่า วงษ์โช” ประธานเครือข่ายเขตสาทร เล่าว่า เขตสาทรได้รับเงินกองทุนมาตั้งแต่ปี 2544 จำนวน 1 ล้านบาท มีการตั้งกรรมการกองทุนดูแลปล่อยกู้ให้แก่สมาชิกที่ต้องการเงินไปค้าขาย แต่บางคนขอกู้ไปซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัย
“ส่วนมากคนขอกู้จะรู้ข้อมูลดี เป็นวินมอเตอร์ไซค์เยอะมาก ขอกู้ไปซื้อรถจักรยานยนต์ หรือแม่ค้าขอกู้ไปซื้อรถเข็นขายอาหาร หรือขยายร้านค้า ปกติให้รายละไม่เกิน 2 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดคือร้อยละ 15 ต่อปี ตอนนี้มีไม่จ่ายหลายคน เพราะถูกไล่ที่ หรือมีปัญหาหมุนเงินไม่ทันประมาณร้อยละ 30 พวกเรากำลังตามทวงหนี้กันอยู่ ส่วนเงินก้อนใหม่ที่ คสช.จะให้ เห็นพูดมาหลายครั้งแล้ว ยังไม่รู้นะว่าจะได้วันไหน” นายสง่ากล่าว
“ปรัชญา” ของกองทุนหมู่บ้านฯ เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อเสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น ให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตด้วยภูมิปัญญาของตนเอง
เม็ดเงิน 5.9 หมื่นล้านบาทนั้น ที่เตรียมส่งลงไปทั่วประเทศก่อนสิ้นปี 2558 นั้น ทำให้เกิดคำถามสำคัญ ว่า
เงินก้อนนี้จะกลายเป็น “เงินทุน” ตามปรัชญาที่ระบุไว้ หรือจะกลายเป็นทุกข์จาก “หนี้ก้อนใหม่” ?