เปิดคำพิพากษา"ธาริต – พงส.DSI"พ้นผิด ม.157
ศาลอาญา ยกฟ้อง "อดีต อธ.- 3 ลูกน้อง DSI" ไม่ผิด ทำสำนวนแจ้งข้อกล่าวหามาร์ค-สุเทพฆ่าผู้อื่น เหตุสลายม็อบ นปช.ปี 53 ชี้ทำตามขั้นตอน ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง
25 กันยายน 2561 ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 , พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 200
โดยคำฟ้อง ระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า กรณีเมื่อเดือน ก.ค.54 - 13 ธ.ค.55 ดีเอสไอได้สรุปสำนวนดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ. ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ที่ชุมนุมเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ออกจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง โดย นปช.ก่อความไม่สงบ ก่อการร้าย โจทก์ได้มอบนโยบายชัดเจนว่าให้สลายการชุมนุมโดยหลีกเลี่ยงความสูญเสีย เพื่อระงับความเสียหายของบ้านเมือง โจทก์ไม่ต้องรับผิด เมื่อการชุมนุมยุติลง ดีเอสไอก็ได้สอบสวนดำเนินคดีแกนนำและชายชุดดำข้อหาก่อการร้ายด้วย ต่อมานายธาริต จำเลยที่ 1 ยอมตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จำเลยทั้งสี่จึงร่วมกันแจ้งข้อหาสั่งฆ่าประชาชน กลั่นแกล้งโจทก์สนองความต้องการของรัฐบาล ซึ่งดีเอสไอไม่มีอำนาจ เพราะโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ซึ่งวันนี้ "ธาริต" อดีตอธิบดีดีเอสไอ และกลุ่มพนักงานสอบสวนดีเอสไอ จำเลยทั้งสี่ ได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หลังนายอภิสิทธิ์ โจทก์ที่ 1 เป็นนายกฯ กลุ่ม นปช. ชุมนุมประท้วงให้ลาออก มีความยืดเยื้อ เกิดความรุนแรงมีชายชุดดำ โจทก์ที่ 1 ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่งตั้งนายสุเทพ โจทก์ที่ 2 เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. ในการขอคืนพื้นที่มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธ โจทก์ที่ 2 จึงอนุมัติให้ใช้กระสุนจริงและพลแม่นปืนเพื่อป้องกันการโจมตี เมื่อการชุมนุมยุติมีผู้เสียชีวิตจากกระสุนปืนจำนวนมาก ต่อมาพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ญาติผู้เสียชีวิตร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีโจทก์ทั้งสองให้เป็นคดีพิเศษ กรณีผู้เสียชีวิตให้อัยการร้องต่อศาลเกี่ยวกับเหตุการณ์ตาย โดยกรณีนายพัน คำกอง ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายว่าถูกกระสุนปืนจากอาวุธที่ทหารใช้ขณะปฏิบัติหน้าที่ นายธาริต จำเลยที่ 1 ได้รับสำนวนชันสูตรศพนายพัน ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ ซึ่งจำเลยทั้งสี่สอบสวนแล้วแจ้งข้อหาแก่โจทก์ทั้งสอง
การแจ้งข้อหาแก่โจทก์ทั้งสองเป็นการกลั่นแกล้ง ปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่นั้น โจทก์ต่อสู้ว่ามีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย จึงประกาศภาวะฉุกเฉิน ออกคำสั่งอนุญาตให้ใช้อาวุธอย่างระมัดระวัง การปะทะกันเป็นเหตุเสียชีวิต เนื่องจากการชุมนุมมีคนจำนวนมาก มีกองกำลังติดอาวุธ คำสั่งอนุญาตให้ยิงได้ต่อเมื่อมีความจำเป็น เมื่อดีเอสไอสืบสวนพบมีกองกำลัง ถือเป็นการก่อการร้ายสอบสวนได้ตามกฎหมาย อัยการจึงยื่นฟ้องแกนนำ นปช. แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการแต่งตั้งแกนนำ นปช.บางคนเป็นรัฐมนตรี หลังศาลไต่สวนการตายของนายพันที่เสียชีวิตจากกระสุนของทหาร ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ขณะนั้น บอกว่า ศอฉ.ต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 1 ก็ให้สัมภาษณ์สื่อฯ ตอบรับว่าต้องมีผู้รับผิดชอบและสามารถเอาผิดโจทก์ได้ สนองความต้องการของรัฐบาลจนได้ต่ออายุเป็นอธิบดีดีเอสไออีก 1 ปี
ทั้งนี้ เมื่อดีเอสไอสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ เท่ากับยอมรับมาแต่ต้นว่าอยู่ในอำนาจไต่สวนของ ป.ป.ช. หากผลการไต่สวนปรากฏผิดตามข้อกล่าวหา ป.ป.ช.ต้องส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป แต่กลับเรียกโจทก์ไปแจ้งข้อหาฆ่าคนตาย การบันทึกแจ้งข้อหากล่าวถึง นปช.ชุมนุมโดยสงบไม่มีอาวุธ ทหารใช้อาวุธ เป็นการสอบสวนให้ปรากฏข้อเท็จจริงบางส่วน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ทำคดีก่อการร้าย ต่อมาอัยการได้ยื่นฟ้องโจทก์แล้วศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.
ขณะที่ฝ่ายจำเลยเบิกความถึงเหตุการณ์ชุมนุม นปช.มีความรุนแรง แจ้งความกันหลายคดีหลายกลุ่ม ดีเอสไอทำทุกคดีไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งอัยการ ตำรวจ ร่วมคณะกรรมการสอบสวน คดีนายพันส่งอัยการร้องศาลไต่สวนการตาย ศาลวินิจฉัยว่านายพันถูกกระสุนที่ใช้ในราชการทหาร ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายพันไม่ใช่ผู้ชุมนุม แต่ถูกกระสุนขณะวิ่งเข้าไปดูเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารยิงรถตู้ของนายสมร ไหมทอง ถือเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นหน้าที่อัยการสูงสุด พนักงานสอบสวนพิจารณารอบคอบแล้ว โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้สั่งการกดดันการชุมนุม อนุญาตใช้กระสุนจริง ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดให้โจทก์ทั้งสองใช้กระสุนจริงต่อผู้ชุมนุม การออกคำสั่งของโจทก์ทั้งสองเป็นการสั่งเกินเลยอำนาจหน้าที่ ย่อมคาดหมายว่าเกิดการสูญเสียได้ เป็นความผิดส่วนบุคคล จึงแจ้งข้อหาแก่โจทก์ทั้งสอง โดยมีอัยการรับทราบการแจ้งข้อหา
ศาลเห็นว่า การออกคำสั่งของโจทก์จะชอบหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยต่างหาก จำเลยเห็นว่าโจทก์ออกคำสั่งเกินเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แม้โจทก์นำสืบว่ามีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวยิงทำให้เกิดการบาดเจ็บเสียชีวิต ศาลเห็นว่าการชุมนุมของ นปช.จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่การดำเนินการให้เกิดความสงบต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำอะไรก็ได้ หากใช้อำนาจนอกเหนือกฎหมายต้องรับผิดในฐานะเจ้าพนักงานผู้ดำรงตำแหน่ง จำเลยทั้งสี่แจ้งข้อหาหลังจากศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายนายพันแล้ว จำเลยที่ 1 ตั้งกรรมการสอบสวนรวบรวมหลักฐานแจ้งข้อหา โดยอาศัยข้อเท็จจริงกรณีการตายของนายพันส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ใช้ดุลพินิจตามลำพัง และพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจส่ง ป.ป.ช. คดีวิสามัญฆาตกรรม เป็นดุลพินิจอัยการสูงสุดฟ้อง โจทก์ทำผิดหรือไม่ก็เป็นสิทธิสู้คดีอย่างไรก็ได้
ที่โจทก์อ้างเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำเลยทั้งสี่ไม่มีอำนาจ ต้องส่ง ป.ป.ช.นั้น เป็นความเห็นทางกฎหมายที่ย่อมเห็นต่างกันได้ เหมือนคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา ยังต่างกันในข้อกฎหมายได้ คดีที่ฟ้องโจทก์ฐานฆ่าผู้อื่นนั้น ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยว่าโจทก์ผิด แต่วินิจฉัยว่า ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวน ให้ ป.ป.ช.ส่งอัยการสูงสุดฟ้องคดีหรือฟ้องด้วยตัวเองได้ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาที่สุดแล้ว ดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน ไม่ยุติว่าโจทก์ผิดหรือไม่ ป.ป.ช.ต้องไต่สวนต่อไป การโต้แย้งข้อกฎหมายย่อมแตกต่างกันได้ หากใช้ดุลพินิจโปร่งใสแล้วจะถือว่าเป็นความผิดหาได้ไม่ อีกทั้งโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสี่กลั่นแกล้งให้รับโทษอย่างไร ส่วนคำบันทึกแจ้งข้อหาเรื่อง นปช.ไม่ใช้อาวุธ ต้องว่ากล่าวเป็นคดีแต่ละเรื่องไป
ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ตอบรับความคิดเห็นของ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ได้ทำด้วยตนเอง และได้ต่ออายุอธิบดีฯ อีก 1 ปีนั้น การต่ออายุราชการเป็นมติคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่การดำเนินการของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง คณะรัฐมนตรีก็เคยมีมติให้ข้าราชการคนอื่นดำรงตำแหน่งหลังครบวาระเช่นกัน ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
จากพยานที่โจทก์ที่นำสืบมานั้น ไม่เห็นว่าจำเลยที่ 1 จงใจกลั่นแกล้งโจทก์อย่างไรในการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งทำในรูปของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ มีจำเลยที่ 2-4 และอัยการเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน โดยแต่งตั้งขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายของนายพัน คณะกรรมการไม่มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อ จำเลยทั้งสี่เป็นพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับอัยการที่ร่วมสอบ จึงไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้อง ส่วนหลักฐานอื่นเป็นเพียงพยานแวดล้อมและความเห็นทางกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยทั้งสี่ก็เดินทางกลับตามปกติ โดยนายธาริต จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ ทั้งก่อนและหลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นเหมือนเช่นเคย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหา หรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด
แต่ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้รับคดีไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่ได้สอบสวนและแจ้งข้อหาโจทก์ทั้งสอง ตามที่โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนมามีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ อาจเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 ได้ คดีจึงมีการดำเนินกระบวนการพิจารณา สืบพยานมาตามลำดับจนมีคำพิพากษาในวันนี้