3 บก.วิเคราะห์ "70 ปี ทักษิณ"วางมือทางการเมืองหรือแกล้งตาย
3 บก.ใหญ่เครือเนชั่น พลิกปูมเส้นทางชีวิต"ทักษิณ"ร่ำรวยก้าวกระโดดจากงบประมาณ-สัมปทานรัฐ วางมือทางการเมือง พลิกเกมแกล้งตาย ฟันธงวางมือเมื่อหยุดลมหายใจเท่านั้น
นายสมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nation Group นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และนายบากบั่น บุญเลิศ บรรณาธิการอำนวยการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จัดรายการเนชั่นสุดสัปดาห์ วิเคราะห์การเมือง ออกอากาศทางเนชั่นทีวีช่อง 22 ตอน 70 ปี ทักษิณ-จุดเปลี่ยนชีวิต วางมือทางการเมืองหรือแกล้งตาย
โดยเบรกแรก เป็นการปูพื้นถึงประวัติของนายทักษิณ ชินวัตร ก่อน พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี จนมาถึงนายทักษิณคนหนีคุก โดยการเมืองไทยและการบัญชาการยังอยู่ที่"ทักษิณ"แทบทั้งสิ้น
พลิกปูม ทักษิณ รวยจากงบประมาณ-สัมปทานรัฐ
สำหรับเส้นทางการรับราชการของนายทักษิณ เริ่มต้นเมื่อปี 2516 ทักษิณจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เขารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกแผน 6 กองวิจัย-วางแผน และรองผอ.ศูนย์ประมวลข่าวสาร กองบัญชาการตำรวจนครบาล ต่อมาในปี 2518 เป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และเป็นเลขานุการหรือตำรวจติดตามนายปรีดา พัฒนถาบุตร ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
และมีโอกาสประสานงานใกล้ชิดกับพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ในสมัยที่เป็นเลขานุการของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2523
เริ่มทำธุรกิจส่วนตัวควบคู่ไปกับการรับราชการตำรวจ มีกิจการโรงภาพยนตร์ แต่ขาดคุณคอนโดมิเนียม และตั้งบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ ให้กรมตำรวจเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ และเข้าสู่ช่วงจุดเปลี่ยนของชีวิตในปี 2529 ก่อตั้งบริษัทเอไอเอส ในปีต่อมาลาออกจากราชการตำรวจเพื่อทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือและธุรกิจเคเบิ้ลทีวีเต็มตัว กระทั่งธุรกิจประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด
เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2535 นายทักษิณขอประมูลดาวเทียมไทยคม จากพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หรือบิ๊กจ๊อด จนมีวลี “ถ้าไม่มีพี่ชาย ผมคนนี้ก็ไม่มีวันนี้ ถ้าไม่มีบิ๊กจ๊อดก็ไม่มีไทยคม” สะท้อนถึงคนที่เกลียดรัฐประหารมากแต่กลับได้ประโยชน์จากการรัฐประหาร
และเมื่อนายทักษิณเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เพิ่มงบประมาณกลางปี 1.1 หมื่นล้านบาท โดยนำงบฯดังกล่าว ประมาณ 260 ล้านบาท ไปซื้อจานดาวเทียมของนายทักษิณ เนื่องจากในช่วงนั้นบริษัทเคเบิ้ลทีวีของนายทักษิณสั่งซื้อจานดาวเทียมเข้ามาจำหน่ายเป็นจำนวนมากแต่ขายไม่ออก จึงนำมาขายโละสต็อกให้กับโครงการการศึกษานอกโรงเรียน การประสบความสำเร็จทางธุรกิจของนายทักษิณจึงสวนทางกับสิ่งที่นายทักษิณเคยมาตลอดพูดว่าไม่เคยหากินจากความด้อยพัฒนาของประเทศ
“ลุงจำลอง” ผู้แจ้งเกิด-แจ้งตายทางการเมือง
เบรกที่ 2 เป็นการวิเคราะห์ถึงการเกิดและดับในทางการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร โดยคนที่ทำให้ทักษิณเกิดและดับ คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ครั้งเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม เข้าร่วมรัฐบาลกับนายชวน หลีกภัย ดึงนายทักษิณจากภาคธุรกิจเข้ามาเป็นรมว.ต่างประเทศ ดำรงตำแหน่งได้ 100 วัน ต้องลาออกเพราะคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญจากการถือหุ้นสัมปทานรัฐ และในปี 2549 พล.ต.จำลองที่เคยแจ้งเกิดทางการเมืองให้นายทักษิณ ก็ได้ร่วมกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประท้วงขับไล่นายทักษิณ จากการโอนขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็กโดยไม่เสียภาษี
ก่อนที่นายทักษิณจะเป็นนายกฯ หลีกเลี่ยงปัญหาคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นคดีซุกหุ้น จากการโอนหุ้นมูลค่าหลายพันล้านบาท ไปให้คนขับรถ ยาม คนรับใช้ และเลขา เป็นนอมินีถือหุ้นแทนเพื่อเลี่ยงปมคุณสมบัติรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อเป็นคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เกิดปรากฏการณ์อัศวินควายดำ และวลีบกพร่องโดยสุจริต สร้างกระแสกดดันจนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายทักษิณพ้นผิดในคดีซุกหุ้นไปแบบหวุดหวิด ด้วยมติ 8:7 ในขณะนั้นนายประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุคำวินิจฉัยส่วนตนระบุว่า การปล่อยทักษิณจะสร้างความวิบัติให้บ้านเมือง
คอรัปชั่นเชิงนโยบาย จุดตาย “ทักษิณ”
นายทักษิณ ยังได้นำกลยุทธ์ด้านเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการควบรวมกิจการ มาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ทางการเมือง ด้วยการกวาดต้อน ส.ส.จากมุ้งต่างๆ มาเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย นำไปสู่การรับซื้อสนามกอล์ฟอัลไพน์มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท จากนายเสนาะ เทียนทอง แกนนำ ส.ส.กลุ่มวังน้ำเย็น โดยข้อเท็จจริงที่ดินอัลไพน์เป็นที่ธรณีสงฆ์แต่เกิดการฉ้อฉล จนที่ธรณีสงฆ์ต้องกลายมาเป็นสนามกอล์ฟ กรณีดังกล่าวยังส่งผลให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 2 ปี กรณีใช้อำนาจโดยมิชอบตีความกลับคำชี้ขาดของกรมที่ดิน เพื่อให้ที่ดินธรณีสงฆ์เป็นที่ดินเอกชน ซึ่งคดีดังกล่าวยังต่อสู้อยู่ในชั้นศาลฎีกา
ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ ระหว่างปี 44-49 นายทักษิณ คอรัปชั่นเชิงนโยบายมากมาย แปรรูปรัฐวิสาหกิจ สนามบินสุวรรณภูมิ แปลงสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือ 20,000 ล้านบาท มาเป็นภาษี จนเป็นผลให้นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ถูกพิพากษาจำคุก โดยข้อมูลการคอรัปชั่นต่างๆ นำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลรักษาการของนายทักษิณก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติ บริหารราชการส่อไปในทางทุจริตเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง แทรกแซงองค์กรอิสระ และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางโอกาสหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
"ทักษิณ" หลังฉากการเมือง-ม็อบ หวังเอาตัวเองกลับบ้าน
เบรกที่ 3 เป็นการวิเคราะห์ถึงการประกาศวางมือทางการเมืองของนายทักษิณ ว่า จะวางมือจริงหรือแกล้งตายทางการเมือง โดยจากการตรวจสอบพบว่า หลังการปฏิวัติปี 2549 นายทักษิณประกาศวางมือทางการเมืองครั้งแรก จากนั้นได้อยู่เบื้องหลังนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน คือ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อทำภารกิจตามใบสั่ง “เอาทักษิณกลับบ้าน” ซึ่งทำสำเร็จในยุคของนายสมัคร
แต่ปรากฎว่านายทักษิณต้องเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง เพราะศาลใกล้ตัดสินคดี จากนั้นรวมเป็นเวลา 13 ปี นายทักษิณไม่ได้กลับเข้าประเทศไทยอีกเลย แต่ยังคงมีบทบาทอยู่เบื้องหลังทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นายทักษิณยังอยู่เบื้องหลังการชุมนุมก่อความไม่สงบ หรือก่อจลาจลของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการชุมนุมในปี 2553 ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหาร มากถึง 890 คน
เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย หรือกฎหมายลักหลับ เพื่อนำทักษิณกลับบ้าน จนเป็นเหตุให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาเป็นแกนนำม็อบ กปปส. ขับไล่รัฐบาล
และนำไปสู่การรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อจากนั้นในช่วงรัฐบาล คสช. นายทักษิณยังคงมีบทบาททางการเมืองเรื่อยมา จนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งนายทักษิณไม่ประสบความสำเร็จในภารกิจ “นายกฯคนที่ 4” แม้จะเปิดยุทธการแตกแบงค์พันก็ยังพ่ายแพ้การเลือกตั้ง
รวมเบ็ดเสร็จ นายทักษิณประกาศวางมือทางการเมืองมาแล้ว 8 ครั้ง เป็นการพูดด้วยตัวเอง 6 ครั้ง ส่วนอีก 2 ครั้ง พูดผ่านนายนพดล ปัทมะ และนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย 1 ครั้ง มาแล้วรวม 8 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 22 ต.ค.2549 , วันที่ 1 ม.ค. 2551 ,วันที่ 28 ก.พ.2551, วันที่ 22 ก.ย.2552,วันที่ 12 พ.ย.2552,วันที่ 15 เม.ย.2555, วันที่ 20 เม.ย.2557 และล่าสุดวันที่ 2 ธ.ค.2560
" ทักษิณ"จะวางมือทางการเมืองต่อเมื่อหยุดลมหายใจ
ส่วนประเด็นที่ถูกจับตามองว่า ทักษิณจะวางมือทางการเมืองจริงหรือไม่ สืบเนื่องมาจาก ในวันครบรอบวันเกิด (26 ก.ค.) ของทุกปี นายทักษิณจะจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ แต่ในวันเกิดครบรอบ 70 ปี (26 ก.ค.2562) นายทักษิณประกาศล่วงหน้าผ่านทวิตเตอร์ว่า จะไม่จัดงานวัดเกิดในปีนี้ ขอทานข้าวกับลูกหลาน เพราะอากาศในดูไบร้อนอบอ้าว ทำให้สถานที่ไม่สะดวกที่จะจัดงาน
ในเวลาใกล้เคียงกันนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล คนสนิทของนายทักษิณ ออกมาประกาศวางมือ ยุติบทบาททางการเมืองของตัวเอง ด้วยวัย 69 ปี ทำให้นายทักษิณถูกมองไปในมุมเดียวกัน ว่าอาจมีการต่อรองทางการเมืองเรื่องคดีของนายพานทองแท้หรือการพ่ายแพ้เลือกตั้ง กระแสความนิยมในตัวของนายทักษิณลดลงเปลี่ยนไปเทให้กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
ในทางการเมืองเมื่อนายทักษิณประกาศไม่จัดงานวันเกิด เวทีหรือช่องทางในการชักใยทางการเมืองควรจะปิดลง ท่อน้ำเลี้ยงจากฮ่องกงและดูไบอาจจะตันแล้ว รวมถึงการผ่าตัดโครงสร้างพรรคเพื่อไทย ถ่ายโอนอำนาจไปให้ “ 2 เจ๊ ” และปล่อยให้พรรคอนาคตใหม่เดินเกมนอกสภาฯ โดยส่งกุนซือกลุ่มคนเดือนตุลาไปเป็นฝ่ายสนับสนุน
แต่หลังจากวิเคราะห์ว่าการเคลื่อนไปของพรรคอนาคตใหม่อาจไปต่อไม่ได้ จึงมีความเคลื่อนไหวและท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่งตั้งที่ปรึกษาด้านการเมืองของหัวหน้าพรรค ให้อำนาจกำกับดูแลให้คำปรึกษาทางการเมืองด้านต่างประเทศ รวม 4 คน ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งประกาศวางมือทางการเมืองหลังพ้นตำแหน่งเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ นายชูศักดิ์ ศิรินิล มือกฎหมาย และนางนลินี ทวีสิน หัวหน้าพรรคเพื่อธรรม ซึ่งเป็นคนที่นายทักษิณไว้วางใจ ที่ก่อนหน้านี้คล้ายจะไปจากพรรคเพื่อไทย แต่ล่าสุดยังอยู่ครบ
แสดงให้เห็นว่านายทักษิณยังอยู่และพลิกเกมตลอด "แกล้งตายทางการเมือง..นายทักษิณจะวางมือทางการเมืองต่อเมื่อหยุดลมหายใจ "