ข่าว

โจทย์ยาก เคสไพบูลย์ รัฐธรรมนูญ เขียนไม่ครอบคลุม

โจทย์ยาก เคสไพบูลย์ รัฐธรรมนูญ เขียนไม่ครอบคลุม

26 ส.ค. 2562

วิษณุ ยังงงอยู่ ไพบูลย์ ยุบพรรค ซบพปชร. เคสนี้รธน.เขียนไม่ครอบคลุม โยนกกต.ดู ปัดไม่รู้ยังเป็น ส.ส.หรือไม่ ถือเป็นโจทย์ยาก 

 

วันที่ 26 สิงหาคม 2562  ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) ยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ยุบพรรคตัวเอง เพื่อเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) 

 

โดยบอกว่า ยังงงกับเรื่องนี้อยู่ จึงต้องให้ กกต.เป็นผู้พิจารณา และไม่รู้ว่าหากยุบพรรคได้จริง คะแนนในส่วนของพรรคประชาชนปฏิรูปนั้นจะเป็นอย่างไร  ทั้งนี้ การยุบพรรคตัวเองไม่ใช่เรื่องลำบาก แต่จะกระทบต่อ ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติถึงเรื่องนี้ 3 กรณีเท่านั้น 1.ส.ส.ลาออก ทำให้ขาดการเป็นสมาชิกภาพของพรรค 2.พรรคขับออกจากการเป็นสมาชิก จึงต้องไปหาพรรคใหม่ภายในเวลาที่กำหนด และ 3.มีคำสั่งยุบพรรค จึงต้องไปหาพรรคใหม่ภายใน 60 วัน แต่กรณีของนายไพบูลย์นั้น ไม่เกี่ยวกับ 3 ข้อที่ยกมา จึงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร 

 

นายวิษณุ กล่าวว่า โดยหลักการเมื่อพรรคถูกยุบ จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ทุกคนต้องมีพรรคสังกัด ขณะเดียวกัน ส.ส.ที่ไม่ได้กระทำความผิด จะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะบางครั้ง ส.ส.กระทำความผิด แล้วถูกพรรคไล่ออก ก็ยังไม่ขาดจากการเป็น ส.ส.เลย แต่กรณีนี้ นายไพบูลย์ยื่นยุบพรรคเอง ก็ต้องคุ้มครองคนที่ไม่ได้กระทำความผิดด้วย แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายเฉพาะพรรคประชาชนปฏิรูป แต่หมายถึงทุกพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องพิจารณา และเรื่องดังกล่าว ที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องพิจารณาอยู่ดี 

 

ต่อข้อถามที่ว่า  ไม่ว่า กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยอย่างไรจะถือเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แน่นอน ส่วนจะวุ่นวายหรือไม่ตนไม่ทราบ 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคเล็กซึ่งมีไม่ถึง 7 หมื่นคะแนน จะยื่นยุบพรรคตัวเอง เพื่อเข้าร่วมกับพรรค พปชร. เหมือนนายไพบูลย์ นายวิษณุ กล่าวว่า รับทราบ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 99 ระบุว่า ห้ามมีการควบรวมพรรค ซึ่งหมายถึงการยุบพรรคหนึ่งไปรวมกับอีกพรรคหนึ่ง แต่กรณีของนายไพบูลย์ระบุว่า ไม่ได้ควบรวม แต่ยุบทิ้งให้หายไปเฉยๆ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยวิเคราะห์หากนายไพบูลย์ยุบพรรคได้ คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อถูกเฉลี่ยนับใหม่ให้พรรคอื่นๆ ซึ่งต่อไปอาจมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 คนหายไปทันที นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตอบไม่ถูก  

 

ส่วนเมื่อพรรคถูกยุบแล้ว ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะยังมีสถานะเป็น ส.ส.หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะถือเป็นโจทย์ยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมายที่จะต้องคิดหาทางออก เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ที่รับผิดชอบ คนที่จะไขโจทย์นี้คือ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนจะใช้เวลานานหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ