ข่าว

หมอระวี ห่วงเงินในกระเป๋า คนกรุง หดสวนทางว่างงานพุ่ง

หมอระวี ห่วงเงินในกระเป๋า คนกรุง หดสวนทางว่างงานพุ่ง

31 ต.ค. 2562

รายได้คนกรุงหด อัตราคนว่างงานพุ่ง คาดปีหน้าตกงานกว่า 4 แสน หมอระวี แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพิ่มรายได้แทนลดแลกแจกแถม

 

              เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 62  นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงความเป็นห่วงหลังผลสำรวจข้อมูลรายได้ต่อครัวเรือนของคนกรุง ชาวกรุงเทพฯ ที่ลดลงจาก 49,194 บาทต่อเดือน ในปี 2556 มาเหลือเพียงเดือนละ 46,695 ต่อเดือนในปี 2562 หรือลดลงเดือนละ 2,499 บาท

 

 

 

              เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะใน 6 ปีที่ผ่านมา รายได้ไม่เพิ่มขึ้นแถมยังลดลงถึง 5 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ยังมีปัญหาการว่างงานสูงมากขึ้น ซึ่งจากสถิติเมื่อต้นปี 2562 พบว่า มีอัตราการว่างงานถึง 3.9 แสนคน และในปี 2563 คาดว่าอัตราการว่างงานจะพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 4 แสนคน

              ทั้งนี้ เห็นว่าถ้าเปรียบว่าเศรษฐกิจไทยกำลังป่วย ก็ถือว่าทั้งรายได้คนกรุง ที่ลดลงและอัตราว่างงานที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คืออาการของโรคที่เริ่มแสดงออกมาให้เห็นชัดเจนมากขึ้น เป็นการบ่งบอกถึงปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข มากกว่าการออกนโยบายประชานิยม แต่ต้องเน้นไปที่การเพิ่มรายได้ กระจายโอกาส การทำงาน ทำให้ ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน กรณีที่อยากทำธุรกิจสตาร์ทอัพแทนที่จะเป็นมนุษย์เงินเดือน

              นพ.ระวี ยังเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณไปแก้ไขปัญหาประเด็นรายได้ต่อครัวเรือนลดลงที่ต้นเหตุด้วยการส่งเสริมการพัฒนาแรงงานให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น และสนับสนุนธุรกิจของภาคเอกชนให้เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มการจ้างงานมากขึ้น เมื่ออัตราการว่างงานลดลงก็จะทำให้ประชาชนมีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และเป็นรูปธรรม

 

 

 

              "การเน้นสร้างงานและพัฒนาบุคลากร จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น ดีกว่าการใช้นโยบายประชานิยมแบบลดแลกแจกแถมซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น มากกว่าการแก้ปัญหาในระยะยาว เราควรนำพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานให้แนวทางไว้ว่า “เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า” มาปรับใช้ เพราะถ้าปลาที่มีหมดลง ประชาชนก็จะสามารถหาปลาตัวใหม่ด้วยตัวเอง แก้ปัญหาด้วยตัวเองได้อย่างยั่งยืน"