ข่าว

ครป.ชง 10 ข้อเสนอต่อสู้โควิด

ครป.ชง 10 ข้อเสนอต่อสู้โควิด

23 มี.ค. 2563

ครป.เสนอ 10 ข้อต่อสู้กับไวรัสโควิด-19

 

23 มีนาคม 2563  นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่าจากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (COVID-19) 

 

อ่านข่าว ลุ้นประกันสังคม ชดเชยตกงานมากกว่า 7.5 พันบาท
ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เตือนใช้แอลกอฮอล์ปลอมถึงเสียชีวิต 

(คลิป) ประชาชนใช้บริการหัวลำโพงผิดคาด 

 

 

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย วันนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเข้มข้นขึ้น จากตัวเลขที่คณะแพทย์และผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุขประเมินออกมาเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก หากอยู่ในสถานการณ์ที่รุนแรงที่สุดและควบคุมไม่ได้จะมีผู้ติดเชื้อหลายแสนคน ดังนั้นมาตรการควบคุมโรคต่างๆ รัฐบาลจะต้องจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้

 

1.ประเทศไทยมีคณะแพทย์ พยาบาลและผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และมีระบบสวัสดิการด้านสาธารณสุขที่ดีมาก สังคมไทยต้องขอขอบคุณคณะแพทย์ พยาบาล ที่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในภาวะวิกฤต ขณะที่รัฐบาลต้องบริหารสถานการณ์วิกฤตให้มีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ใช้ระบบราชการที่อ้อยอิ่ง แต่ต้องมีศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินระดับชาติ ตั้งเป็น War Room ปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง พร้อมอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูงที่ประเทศไทยมี โดยให้นายแพทย์อาวุโสที่เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยามาร่วมเป็นคณะทำงาน และมีผู้มีอำนาจสั่งการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดการปฏิบัติทั่วประเทศโดยไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และสามารถสั่งการหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้

 

2.สถานการณ์วิกฤตไวรัสระบาดและปัญหาเศรษฐกิจวันนี้ รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่รอคอยจนปล่อยให้มีการติดเชื้อขยายตัวกว้างขวาง ต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบรองรับกับการประเมินสถานการณ์ที่รุนแรง โดยการระดมเร่งรัดให้มีการผลิตวัสดุ ยา หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการตามมาตรการที่แพทย์ร้องขอ

 

จัดสถานบริการทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยในอนาคตอันใกล้ โดยใช้อำนาจขอความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศงดเว้นการแสวงหากำไรในสถานการณ์วิกฤต การผลิตยาและยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ต้องควบคุมราคาไม่ให้มีการแสวงหาประโยชน์ในระบบสาธารณสุข รวมถึงการประกาศให้นักศึกษาแพทย์ พยาบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศทุกคนออกมาอาสาช่วยเหลือตามสถานพยาบาลต่างๆ

 

3.รัฐบาลต้องเปิดให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจไวรัส COVID-19 ฟรีทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แม้ไม่เข้าข่ายเงื่อนไขที่กำหนดก็ตาม เพราะช่วงแรกที่ยังไม่แสดงอาการป่วยก็อาจสามารถแพร่เชื้อให้ขยายตัวได้ ตามที่เคยมีคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่โรงพยาบาลไม่ยอมตรวจให้หลายกรณี คนไทยต่างต้องการรับทราบว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่จะได้รีบเข้ารับการรักษา

 

เพราะถ้าปล่อยให้อยู่ในระยะบานปลายคนไทยอาจต้องตายกันหมดก่อนเศรษฐกิจพัง รัฐบาลอาจมีมาตรการกลั่นกรองการตรวจสำหรับผู้เข้าข่ายหรือเคยเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงที่มีคนติดเชื้อเพื่อไม่ให้มีการกระจุกตัวหรือล้นเกิน แต่ต้องเพียงพอต่อความต้องการ โดยให้ประชาชนได้ตรวจรักษาโรคฟรีทั้งจากสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศซึ่งใช้งบประมาณไม่มากเกินไป

 

4.รัฐบาลควรรายงานข้อมูลต่อประชาชนอย่างเป็นระบบแบบเรียลไทม์ (real time) เพื่อให้ประชาชนรู้ทันสถานการณ์อย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกันโดยไม่ปิดบังข้อมูล โดยจัดให้มีสถานีโทรทัศน์ 1 ช่องไว้รายการสถานการณ์โดยเฉพาะ ร่วมกับการสื่อสารรูปแบบแขนงอื่นๆ โดยให้มีการรายงานสถานการณ์ว่าด้วย COVID-19 ตลอด 24 ชั่วโมง อัพเดทข่าวจากทั่วโลก เตือนภัย ให้ข้อมูล สายตรงแพทย์ หรือสำหรับการระดมความช่วยเหลือต่างๆ

 

รวมถึงรายงานความต้องการด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ ของ รพ. รพ.สต. ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยให้มีแอปพลิเคชันที่แสดงปริมาณสินค้าคงคลัง จำนวนที่ต้องการเพิ่ม เพื่อให้คนไทยรู้ความจริงและความต้องการด้านเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อให้ผู้มีสิ่งของสามารถส่งของบริจาคกระจายไปตรงตามความจำเป็น ไม่ควรรวมศูนย์ไปที่ส่วนกลางเท่านั้น

 

 

 

5.แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศมาตรการล่าช้า แต่ว่าข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกมานับว่ามีประสิทธิผล โดยเฉพาะมาตรการสั่งปิดสถานที่ชุมนุมชนต่างๆ แต่ระบบจัดการต้องมีประสิทธิภาพด้วยโดยให้อำนาจแต่ละหน่วยงานเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ กระบวนการคัดกรองคุมเข้มตามด่านพรมแดนต่างๆ ทั่วประเทศยังไม่มีมาตรฐาน บางแห่งละเลยและไม่มีการปฏิบัติชัดเจน

 

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรประกาศงดการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดที่มี ยกเว้นคนไทยที่ต้องการกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้มีการติดตามการกักตัวอย่างเป็นระบบ รวมถึงการกักตัวต่างชาติที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไว้ในโรงแรมตามมาตรการที่จีนเคยบังคับใช้ เพื่อประเมินสถานการณ์ไปตามแผนการควบคุมได้อย่างเป็นระบบแล้วค่อยทยอยลดมาตรการที่จำเป็นลง ดังที่ผู้ประกอบการทั้งหลายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ยอมเจ็บ แต่ขอให้จบ"

 

โดยพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการปิดเมือง การปิดสถานประกอบการ และการยกเลิกการเดินทางต่างๆ แต่รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไรบ้างและมีมาตรการที่เล็งเห็นผล ดังนั้น รัฐบาลควรมีแผนการและมาตรการรองรับการบังคับใช้อำนาจต่างๆ อย่างเป็นระบบ รวมถึงหากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือใช้อำนาจตามกฎหมายความมั่นคงภายใน จะต้องไม่เกินเลยไปกว่าการควบคุมโรคภัยพิบัติทางธรรมชาติ จนก้าวล่วงไปสู่การใช้อำนาจคุกคามด้านมนุษยธรรม

 

6.มาตรการเชิงรุกของรัฐบาลในการปิดสถานประกอบการต่างๆ ทั่วประเทศ และควบคุมการเดินทางถือเป็นมาตรการตั้งรับเชิงรุก แต่จะเกิดความสำเร็จได้ในการชะลอการแพร่กระจายเชื้อโรคต้องมาจากความร่วมมือของประชาชน เนื่องจาก "การปิดประเทศ" ไม่สำคัญเท่ากับการให้ทุกคน "แยกตัวออกจากสังคม" (Social Distancing) ซึ่งเป็นการยับยั้งการแพร่ขยายของเชื้อโรคโดยตรงตามหลักการระบาดวิทยา การทำงานที่บ้าน การซื้ออาหารนำกลับ การใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ล้วนเป็นมาตรการทางสังคมที่เริ่มต้นได้ที่ตนเอง และมีประสิทธิผลสูงสุดในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัส "ลดความแออัดของผู้คนและเส้นทาง ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคได้"

 

7.รัฐบาลควรจัดกระบวนการเรียนรู้สังคมร่วมกับภาคเอกชนโดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการ สรุปบทเรียนแต่ละวันในการทำงานและขับเคลื่อนแผนการควบคุมโรคอุบัติใหม่อย่างเป็นระบบเพื่อให้สังคมได้เรียนรู้สถานการณ์ร่วมกัน รวมถึงบทเรียนความพลั้งพลาดจากต่างประเทศจนมีผู้คนสังเวยชีวิตให้กับความประมาทจำนวนมาก เพื่อเป็นภูมิต้านทานและความร่วมมือทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในการจัดการตนเอง ครอบครัว และกลไกสังคมร่วมกัน ซึ่งจะนำมาซึ่งการมีส่วนร่วมของสังคมในการสร้างแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการฟื้นฟูสภาพหลังสงครามกับไวรัสระบาด COVID-19 อย่างมีคุณภาพในที่สุด

 

8.วิกฤตเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับไวรัส COVID-19 ไวรัส รัฐบาลจะตั้งกองทุนช่วยพยุงเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีมาตรการดูแลและเยียวยาภาคแรงงานข้างล่างของประเทศด้วย โดยเฉพาะภาคแรงงานในสถานบริการที่เข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคม รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าไม่ถึงเงื่อนไขของสถาบันการเงินต่างๆ ด้วย เนื่องจากสิ่งที่มาพร้อมกับ COVID-19 คือความทุกข์ระทมในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ทำงานรับจ้างรายวัน ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก รัฐบาลจะต้องมีมาตรการรองรับดูแลทุกคนอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการขยายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าด้านต่างๆ การขยายสิทธิลาป่วยให้แรงงานอิสระ สิทธิการลากักตัวโดยได้รับค่าจ้าง และการจ่ายเงินเดือนแทนในบริษัทที่ได้รับผลกระทบ ฯลฯ เป็นต้น นอกจากการใช้กองทุนประกันสังคมและสถาบันการเงินของรัฐดูแลเยียวยาผู้ประกอบการ ซึ่งบางแห่งแอบเอาเปรียบลูกจ้างของตนเองและเตรียมลอยแพให้ตกงานหลังสถานการณ์วิกฤต

 

9.ขอให้รัฐบาลควบคุมระบบเศรษฐกิจให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้กลุ่มทุนธุรกิจผูกขาดค้ากำไรจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดยควบคุมให้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดผลิตให้เพียงพอต่อประชาชนและอยู่ในการควบคุมราคาของทางรัฐ และมีมาตรการด้านภาษีและดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกระดับ โดยการให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบหยุดพักชำระหนี้ชั่วคราวกับสถาบันทางการเงินต่างๆ การพักดอกเบี้ยเงินกู้ชั่วคราวเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็แทบไม่มีอยู่แล้ว หยุดเก็บค่าน้ำค่าไฟเป็นการชั่วคราวสำหรับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการลดการเก็บภาษีชั่วคราวในสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน นอกจากการลดภาษีเงินได้ต่างๆ และ 14 มาตรการที่กระทรวงการคลังทำอยู่

 

10.ในสถานการณ์วิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ขอให้บรรดาเจ้าสัว นักธุรกิจและกลุ่มทุนที่ครอบครองทรัพยากรและทรัพย์สินส่วนมากในสังคมและมีรายได้สูงจากกำไรและการเอื้ออำนวยของรัฐและสังคมตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้ออกมาร่วมช่วยเหลือและแบ่งปันคืนสู่สังคม โดยร่วมกันสร้างตาข่ายสังคมขึ้นรองรับปัญหา เพื่อป้องกันสังคมและรัฐที่ล้มเหลวในภาวะวิกฤตนี้ ก่อนคำว่า "ความรับผิดชอบต่อสังคม" จะใช้ไม่ได้อีกต่อไปในสังคมที่เหลื่อมล้ำและเน่าเฟะจากปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน จนประชาชนเกิดความรู้สึกว่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมที่เฮงซวยนี้ก็ได้ เพราะไม่ใช่สังคมที่ดีและต้องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงมัน เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่น่าอยู่กว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าและน่ารับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันมากกว่าในอนาคต ซึ่งอาจจะนำมาด้วยความแตกแยกและความขัดแย้งในสังคมไทย จนเกิดความรุนแรงเพื่อต้องการตอบโต้และปฏิวัติสังคมที่ล้มเหลวนั้นในที่สุด.