"ก้าวหน้า-เอก-ช่อ" แจกจริงสู้โควิด...แต่ผิดหลักการ
เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย มองว่า การจัดกิจกรรมระดมทุนของ "คณะก้าวหน้า" ที่นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ "ช่อ" พรรณิการ์ วานิช ผิดหลักการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในยามวิกฤติ และไม่สามารถใช้หลักคิดแบบ UBI ในภาวะแบบนี้ไม่ได้
ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย มองว่า การจัดระดมทุนของ "คณะก้าวหน้า" ในแง่ของความพยายามช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในยุคโควิด ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและส่วนตัวสนับสนุนอย่างยิ่ง
แต่ปัญหาเท่าที่ตรวจสอบพบคือ รายละเอียดการแจกเงินยังไม่ชัดเจน เท่าที่พบข้อมูลคือเป็นการแจกหมด ไม่ได้ดูว่าใครเดือดร้อนจริงหรือไม่จริง และที่อ้างว่าใช้หลัก Universal Basic Income หรือ UBI ซึ่งหมายถึงสวัสดิการของรัฐที่จัดให้ประชาชนทุกคนเพื่อให้มีรายได้ขั้นต่ำสามารถดำรงชีวิตได้ ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีงานหรือรายได้ทางอื่นหรือไม่ คล้ายๆ ประกันรายได้ของคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้น จริงๆ แล้วแนวคิดนี้ใช้ในยามที่ประเทศอยู่ในภาวะปกติ สามารถทำธุรกิจ ทำมาค้าขายได้สะดวก หรือเป็นกรณีของประเทศร่ำรวย มีเงินเหลือพอแจกจ่ายให้กับประชาชน 5,000-7,000 บาท โดยไม่ต้องคำนึงถึงอะไร
แต่อย่าลืมในวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย เพราะกระจายไปทั่วทั้งโลก ดังนั้นจะนำ UBI ด้วยการแจกเงินแบบถ้วนหน้า หรือไม่เลือกหน้าเลย มาใช้ย่อมไม่เหมาะสม เนื่องจากทรัพยากรเรามีจำกัด จึงจำเป็นต้องใช้หลัก Crisis Management คือ หลักการบริหารในยามวิกฤติ จึงจะเหมาะสมกว่า ด้วยการดูว่าวิกฤติอยู่ตรงไหน ก็ไปอุดรอยรั่วตรงนั้น
เพราะต้องไม่ลืมว่าในยามวิกฤติจะมีคนอยู่ 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก มีเงินสะสมเป็นจำนวนมากจากในยามปกติ สามารถนำมาใช้ดูแลตัวเองยามวิกฤติได้
กลุ่มที่สอง เป็นพวกหาเช้ากินค่ำที่ส่งเสียงไม่ดังพอ หรือเข้าไม่ถึงโอกาส
ดังนั้นเมื่อเกิดสภาวะวิกฤติเช่นนี้ จำเป็นต้องเจาะจงช่วยเหลือได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ได้รับความเดือดร้อน นั่นก็คือกลุ่มที่สอง เพราะได้รับผลกระทบทันที แต่ถ้าใช้หลัก UBI จะทำให้สูญเสียทรัพยากรส่วนหนึ่งไปให้กับคนที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ส่งผลให้คนที่เดือดร้อนจริง ได้รับการช่วยเหลือน้อยเกินไป หรือไม่ได้รับเลย
ส่วนแนวทางการจ่ายเงินเยียวยาของรัฐบาล ทั้งเงินเยียวยา 5,000 บาทกับแรงงานนอกระบบประกันสังคม และเงินช่วยเหลือเกษตรกรเป็นรายครัวเรือนนั้น อาจารย์เชษฐา มองว่า แม้จะดำเนินการถูกต้องตามหลักการ แต่ยังจำกัดวิธีการมากเกินไป เช่น บังคับให้ลงทะเบียนแบบออนไลน์เท่านั้น ทั้งๆ ที่มีประชาชนจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และไม่เข้าใจระบบออนไลน์ จึงควรเปิดให้กรอกเอกสารลงทะเบียนผ่านช่องทางอนาล็อกด้วย โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ซึ่งมีทั่วประเทศกว่า 7,800 แห่งเข้ามาดำเนินการ แต่ไม่ต้องให้ถือเงิน เพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่น โดย อปท.สามารถทำหน้าที่หาคนเดือดร้อนจริงในแต่ละพื้นที่ เพื่อรวบรวมรายชื่อและส่งต่อกระทรวงการคลังตรวจสอบก่อนโอนเงินเข้าบัญชี