"หญิงหน่อย" แนะรัฐบาลแบ่งเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน ลงทุน "โครงสร้างพื้นฐาน"
"สุดารัตน์" แนะรัฐบาลพลิกวิกฤต โควิด-19 สู่โอกาสในอนาคตของประเทศไทย ด้วยการแบ่งเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน มาทำ "โครงสร้างพื้นฐาน" สำหรับรองรับธุรกิจในอนาคตหลัง COVID-19 โดยเฉพาะการทำ "โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข"
วันที่ 7 พ.ค. 2563 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan" แนะรัฐบาลควรพลิกวิกฤต COVID-19 สู่โอกาสในอนาคตของประเทศไทย ด้วยการแบ่งเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน มาทำ "โครงสร้างพื้นฐาน" สำหรับรองรับธุรกิจในอนาคตหลัง COVID-19 โดยเฉพาะการทำ "โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข"
อ่านข่าว "หญิงหน่อย" จะไม่ยอมให้รัฐบาล "ตีเช็คเปล่า" เงินกู้1.9 ล้านล้าน
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว การบริการและการส่งออกอาหาร รวมทั้ง "โครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร" ให้ไทยเป็น "ศูนย์กลางอาหารปลอดภัย" ป้อนคนทั้งโลก ทำให้คนทั่วโลกเชื่อมั่นว่า "เที่ยวไทยปลอดโรค อาหารไทยปลอดภัย"
COVID-19 ได้กลายโรคระบาดใหญ่ของโลกในรอบ 100 ปีนี้ โดยต่อจากนี้เราต้องยอมรับความจริง 2 ประการ คือ
1. COVID-19 จะต้องอยู่กับเราอีกระยะหนึ่ง ซึ่งยาวพอสมควร จนกว่าเราจะมีวัคซีน หรือยารักษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จใช้ได้ในไตรมาส 2 ปีหน้า
2. โลกหลัง COVID-19 จะเปลี่ยนบริบทการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจของผู้คนทั่วโลก ที่เราเรียกว่า New Normal ทุกคน ทุกธุรกิจต้องปรับตัว รวมทั้งประเทศไทยและคนไทย
New Normal หลัง COVID-19 คนทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับ "สุขภาพ" & "ความสะอาด" (Health & Hygienity), การใช้ Online มากขึ้น, การ Work from home มากขึ้น นักวิเคราะห์ต่างประเทศมองว่า ความสำเร็จของการทำธุรกิจ และการดำเนินชีวิตจะขึ้นอยู่กับ 3 สิ่งนี้ คือ ความรวดเร็ว (Agility) ความยืดหยุ่น (Scalability) และความเป็นอัตโนมัติ (Automation)
แม้แต่บริบทของความมั่นคงของประเทศก็จะเปลี่ยนไป ศัตรูของประเทศจะไม่ใช่การรบด้วยอาวุธแบบ Conventional war fare ที่เราต้องสะสมและทุ่มซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และมีกำลังพลมากมายอีกต่อไป แต่ศัตรูของคนทั้งโลกกลายเป็นเชื้อโลกตัวเล็กๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก และพร้อมจะเกิดโรคระบาดครั้งใหม่ได้เสมอ เราจึงต้องเสริมโครงสร้างพื้นฐาน และกองทัพสาธารณสุขให้เข้มแข็ง
รัฐบาลไทยจึงต้องมีความรู้และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลกหรือ New Normal ครั้งนี้อย่างแท้จริง และต้องมีความสามารถในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของคนไทย
โดยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยรับ New Normal ให้ได้ ถ้าเราวางยุทธศาสตร์ให้ดี วิกฤต COVID-19 จะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย โดยยึดสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ประเทศไทยเรามีความเข้มแข็ง คือการเกษตร, การท่องเที่ยวการบริการ, รวมทั้งการส่งออก เมื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ กำลังซื้อภายในประเทศจะกลับมา ธุรกิจอื่นๆ ก็จะดีขึ้นตามกันมา
สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องลงทุน เพื่อช่วยธุรกิจไทยหลัง COVID-19 คือ การลงทุน "สร้างโครงสร้างพื้นฐาน" (Infrastructure) สำหรับรองรับ New Normal ของการใช้ชีวิตของผู้คนและธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับ "สุขภาพอนามัย" และ "ความสะอาด" การใช้เทคโนโลยี, การใช้ ระบบ Online ในหลายภาคส่วน และต้องตระหนักว่าระบบ Work from home จะเป็นประโยชน์มากแก่แรงงานที่มีทักษะ แต่จะมีแรงงานทั่วไปจะตกงานเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท นอกจากจะมาแก้ไขเฉพาะหน้าในการเยียวยาผู้เดือดร้อนและกู้วิกฤตเศรษฐกิจ ดังที่ดิฉันได้เขียนไว้ใน Post ที่แล้ว รัฐบาลต้องใช้เงินกู้นี้ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ "ธุรกิจในอนาคตของไทย" ด้วย แต่ดิฉันไม่เห็นว่ารัฐบาลจัดงบเพื่อการนี้เลย
ประการแรก ดิฉันเห็นว่า รัฐบาลต้องใช้เงินกู้นี้มาทำ "โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข" เพราะโครงสร้างทางสาธารณสุขของไทย ค่อนข้างดีอยู่แล้ว จากการพัฒนาต่อเนื่องมายาวนานและความเข้มแข็งของบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้ Infrastructure ทางสาธารณสุขของเราให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพทั้งการดูแลสุขภาพคนไทย หากเกิดโรคระบาดใหม่เกิดขึ้น และเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจของคนไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ส่งออกในกลุ่มอาหารและเกษตร ถ้าเรามี Infrastructure ทางสาธารณสุขดี ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวและลูกค้าของไทย เชื่อมั่นในการมาท่องเที่ยว และซื้อสินค้าจากประเทศไทย ว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ และปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ
นำความแข็งแกร่งด้านสาธารณสุขมาเป็นจุดแข็งในการพลิกฟื้นธุรกิจท่องเที่ยว บริการ และส่งออกของไทย เราสามารถทำ แคมเปญ "เที่ยวไทยปลอดโรค อาหารไทยปลอดภัย" ได้เลย
อีกประการที่สำคัญคือ การสร้าง "โครงสร้างพื้นฐานด้วยเกษตร" เพราะประเทศไทยมีพื้นฐานด้านการเกษตรที่ดีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเราได้ปล่อยให้เกษตรต่อสู้ลำพังในระบบทุนนิยม จึงไปไม่รอด ถึงเวลาพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการทำให้ประเทศไทยเป็น "ศูนย์กลางการผลิตอาหารปลอดภัยป้อนโลก"
เงินกู้จำนวนนี้ต้องนำมาลงทุนสร้าง อนาคตให้เกษตรกรไทย, อุตสาหกรรมอาหารของไทย เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกร
โดยต้องลงทุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนหน้าดิน ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ช่วยลดต้นทุนการผลิต และสร้างคุณภาพให้ผลผลิตของเกษตรกร พร้อมหาตลาดที่เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลควร ลงทุน "โครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร" ให้เกษตรกรจากเงินกู้ครั้งนี้ อย่าปล่อยให้เขาต้องยืนต่อสู้ลำพัง ท่ามกลางระบบทุนนิยม
จะทำให้ "เกษตรกร" ที่เราเคยมองว่าเป็นภาระ กลายเป็นผู้สร้างรายได้ให้ประเทศ
วิกฤตครั้งนี้ รัฐบาลที่ชาญฉลาด มีวิสัยทัศน์ทันโลก จะสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้กับประเทศได้ ถ้าเข้าใจบริบทของประเทศว่า จุดอ่อนจุดแข็งอยู่ตรงไหน และสามารถวางยุทธศาสตร์ ตลอดจนมาตรการต่างๆ ได้อย่างถูกต้องทันเวลา ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังยุค COVID-19