ข่าว

อัยการสูงสุดชี้สุรยุทธ์ไม่ผิดโยนป่าไม้ยึดคืน

อัยการสูงสุดชี้สุรยุทธ์ไม่ผิดโยนป่าไม้ยึดคืน

08 ม.ค. 2553

อัยการ แจงคดีบุกรุกเขายายเที่ยงจบ ชี้ "สุรยุทธ์" ไม่ผิด ขาดเจตนาบุกรุกป่า แต่ยืนยันไม่มีสิทธิครอบครอง โบ้ยกรมป่าไม้ดำเนินการทวงคืนเอาเอง ขณะที่คนสนิทเผยองคมนตรีรอกรมป่าไม้ชี้ขาด ส่วนกรมป่าไม้โบ้ยกรมอุทยานจะดำเนินการอย่างไร อ้างพื้นที่อยู่ในโครงการหมู่บ้าน

 กลายเป็นปัญหาที่ทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ต้องเผชิญกับความยุ่งยากอย่างใหญ่หลวง และเป็นคดีความฟ้องร้องหลังจากถูกหลายฝ่ายโจมตีถึงความชอบธรรมในการครอบครองที่ดินเขายายเที่ยงใน จ.นครราชสีมา ล่าสุดแม้ว่าอัยการจะพิจารณาไม่สั่งฟ้องในคดีบุกรุกเขายายเที่ยง เนื่องจากเห็นว่าขาดเจตนาในการกระทำความผิด แต่ปัญหาดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป และดูเหมือนจะเป็นการจุดชนวนการมืองให้ระอุขึ้นอีกครั้ง

แจงเหตุไม่ฟ้อง"สุรยุทธ์"รุกเขายายเที่ยง

 เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 มกราคม ที่ห้องประชุม 100 ปี ชั้น 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงชี้แจงกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี กับพวกในคดีบุกรุกเขายายเที่ยง ว่า คดีนี้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเขต 3 มีคำสั่งไม่ฟ้องตามพนักงานสอบสวนไปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีความเห็นชอบกับอัยการไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 ดังนั้น คดีจึงเสร็จเด็ดขาด โดยเหตุที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากที่ดินบนเขายายเที่ยงแปลงที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ครอบครองนั้น จากการสอบสวนของพนักงานสอบสวนมีหลักฐานว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 67 (พ.ศ.2508) ออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งกำหนดให้ป่าเขาเตียนและป่าเขาเขื่อนลั่น (เขายายเที่ยง) ในท้องที่ ต.จันทึก อ.ปากช่อง และ ต.ลาดบัวขาว จ.นครราชสีมา เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ก่อนที่ พล.อ.สุรยุทธ์จะเข้าครอบครองปลูกเป็นที่พักอาศัย ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของนายเบ้า สินนอก และบุตรเขย ซึ่งนายเบ้าได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว โดยไม่มีเอกสารสิทธิจำนวน 10 ไร่ โดยไม่ทราบว่าเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวน แล้วเข้าไปทำไร่มันสำปะหลัง ละหุ่ง และข้าวโพด นอกจากนั้นที่ดินในเขตป่าสงวนเขายายเที่ยงยังมีราษฎรเข้าไปอยู่อาศัยทำกินเป็นจำนวนมาก

 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2518 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติเขายายเที่ยง เพื่อจัดสรรให้ราษฎรทำกินครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ (ให้ทำกินครอบครัวละ 14 ไร่ 2 งาน และให้เป็นที่อยู่อาศัยอีก 2 งาน) โดยมีเงื่อนไขไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่ให้สิทธิครอบครองตกทอดถึงทายาทโดยธรรมได้เป็นการถาวร เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนมาครอบครองโดยวิธีกว้านซื้อ โดยกรมป่าไม้จะออกใบอนุญาตชั่วคราวให้ราษฎรเข้าอยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวโดยจัดตั้งในรูปหมู่บ้านป่าไม้ นายเบ้า และบุตรเขย จึงได้รับการจัดสรรที่ดินคนละ 15 ไร่ รวม 30 ไร่ และได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) ตลอดมา ตั้งแต่ปี 2520-2538

แจงขั้นตอนการพิจารณา

 อย่างไรก็ตามต่อมานายเบ้า ได้ขายที่ดินของตนเองและบุตรเขย จำนวน 20 ไร่ ให้นายนพดล พิทักษ์วาณิชย์ เมื่อปี 2538 พร้อมมอบหลักฐานการเสียภาษีให้ด้วย และนายนพดลได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ระหว่างปี 2538-2540 ต่อมา พ.อ.สุรฤทธิ์ จันทราทิพย์ เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2540-2545 และในวันที่ 6 กรกฎาคม 2543 พล.ต.สุรฤทธิ์ เป็นผู้ไปยื่นขอออกเลขที่บ้าน เลขที่ 10 ต.คลองไผ่ (เดิมอยู่ในเขต ต.ลาดบัวขาว) อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของ พล.อ.สุรยุทธ์ ในปัจจุบัน และในวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 พล.ต.สุรฤทธิ์ เป็นผู้ขออนุญาตใช้ไฟฟ้าในบ้านหลังดังกล่าว

 ทั้งนี้ ในปี 2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีหลักฐานว่าผู้ยื่นเสียภาษีบำรุงท้องที่ ในที่ดินดังกล่าว คือ พ.อ.หญิง คุณหญิงจิตรวดี จุลานนท์ ภริยาของ พล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งที่ผ่านมากรมป่าไม้และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกับผู้ใดเลย ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2550 นายคุ้มพงษ์ ภูมิภูเขียว กับพวกรวม 12 คน ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับ พล.อ.สุรยุทธ์ กับพวก ในข้อหาบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเขายายเที่ยงดังกล่าว โดยพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีกับ พล.อ.สุรยุทธ์ (ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้ต้องหาที่ 1 นายธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ต้องหาที่ 2 ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ต้องหาที่ 3 และนายวิชัย แหลมวิไล อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้ต้องหาที่ 4

ชี้องคมนตรีขาดเจตนากระทำความผิด

 ต่อมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสี่ ในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและร่วมกันยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ในที่ดิน ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 โดยส่งสำนวนให้แก่พนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้วพิจารณาตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 โดยพนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้วได้พิจารณาและสอบสวนเพิ่มเติมบางประเด็นและเสนอสำนวนให้อธิบดีอัยการเขต 3 มีคำสั่ง ซึ่งอธิบดีอัยการเขต 3 ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 เช่นเดียวกันกับพนักงานสอบสวน เนื่องจากเห็นว่า นายเบ้า และราษฎรมีสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงเป็นการครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย การครอบครองต่อมาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของนายเบ้า จึงขาดเจตนากระทำผิดตามข้อกล่าวหา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ให้ความเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องของอธิบดีอัยการเขต 3 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552

 ส่วนกรณีการครอบครองที่ดินผิดเงื่อนไขตามมติคณะรัฐมนตรี อัยการจังหวัดสีคิ้ว ได้มีหนังสือ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 แจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของแผนงานจัดที่ดินให้แก่ราษฎรในรูปหมู่บ้าน ป่าไม้และสหกรณ์การเกษตร ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

โบ้ยให้กรมป่าไม้ดำเนินการ

 นายธนพิชญ์กล่าวย้ำว่า หนังสือที่อัยการแจ้งให้ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรนั้น เพียงแต่ให้ดำเนินตามมติ ครม. ที่ให้นำที่ดินคืนแก่ผู้ครอบครอง หรือทายาทผู้ครอบครองที่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์เท่านั้น ส่วนกรมป่าไม้ จะดำเนินการเอาที่ดินคืนจาก พล.อ.สุรยุทธ์ หรือไม่อย่างไรเป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้ที่จะพิจารณาดำเนินการอัยการไม่มีอำนาจหน้าที่ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ละเว้นไม่ดำเนินการให้การครอบครองที่ดินเป็นไปตามเงื่อนไข มติ ครม. ปี 2518 ก็น่าคิดว่าอาจจะเป็นความผิดละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นกัน ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่ากรมป่าไม้จะดำเนินการอย่างไร

 เมื่อถามว่า หากกรมป่าไม้จะต้องดำเนินการเอาที่ดินจาก พล.อ.สุรยุทธ์ แล้วจะต้องมีการฟ้องคืนขับไล่ที่ สามารถส่งให้อัยการดำเนินการได้หรือไม่ นายธนพิชญ์กล่าวว่า ต้องมีขั้นตอนตามกฎหมาย อาจจะแจ้งความ ซึ่งกรมป่าไม้จะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนที่ถามว่า อัยการยืนยันว่าพร้อมจะฟ้องขับไล่ที่กับ พล.อ.สุรยุทธ์ องคมนตรี หรือไม่ หากกรมป่าไม้ขอให้ดำเนินคดี นายธนพิชญ์ กล่าวว่า อัยการจะพิจารณาตามกฎหมาย ซึ่งคดีการบุกรุกที่ดังกล่าวอัยการก็ดำเนินการตามที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวน แต่คงไม่ตอบว่าจะไม่พิจารณากรณีของ พล.อ.สุรยุทธ์

ย้ำองคมนตรีไม่มีสิทธิครอบครอง

 ส่วนที่กลุ่มคนเสื้อแดงอ้างว่าผู้ที่ครอบครองที่ดินเชิงเขาถูกดำเนินคดีต่างจากกับกรณีของ พล.อ.สุรยุทธ์ นายธนพิชญ์กล่าวว่า การครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นคนละกรณีกัน โดยที่ดินบนเขาที่ พล.อ.สุรยุทธ์สร้างบ้านไว้ เจ้าของเดิมได้รับการจัดสรรจากกรมป่าไม้ตามมติ ครม. ให้ชาวบ้านที่อยู่บนเขาถือครองได้คนละ 15 ไร่ แต่กรมป่าไม้ไม่มีการจัดสรรที่ดินเชิงเขาให้ชาวบ้าน ดังนั้นผู้ที่เข้าไปยึดครองจึงมีความผิดฐานบุกรุก

 ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายเบ้า ซึ่งได้รับจัดสรรที่ตามติ ครม. นำที่ดินมาขายต่อเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการครอบครองที่ดิน จะดำเนินคดีได้หรือไม่ นายธนพิชญ์กล่าวว่า มติ ครม.เป็นข้อห้ามการซื้อขาย แต่ไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ดังนั้นนายเบ้าจึงไม่มีความผิด ส่วน พล.อ.สุรยุทธ์ ที่ซื้อที่ดินไป แม้จะไม่มีความผิดเช่นกัน แต่ไม่มีสิทธิครอบครอง ซึ่งสิทธิครอบครองที่แท้จริงต้องตกเป็นของทายาทนายเบ้า

คนสนิท"สุรยุทธ์"ชี้ให้ป่าไม้พิจารณา

 ขณะเดียวกันเกี่ยวกับปัญหาคืนที่ดินเขายายเที่ยงของ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่ยังเป็นข้อถกเถียงทั้งในแง่ของข้อกฎหมาย และความถูกต้องในมโนสำนึก วันเดียวกันแหล่งข่าวใกล้ชิด พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า หลังจากที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง พล.อ.สุรยุทธ์ กับพวก คดีบุกรุกเขายายเที่ยง จ.นครราชสีมา ต่อไปนี้ก็คงต้องรอคณะกรรมการของกรมป่าไม้ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ถ้าหากมีการเริ่มพิจารณาในเรื่องดังกล่าวคงไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ที่ดินเขายายเที่ยงของ พล.อ.สุรยุทธ์เท่านั้น เนื่องจากต้องเอาพื้นที่จากทั่วประเทศนำมาพิจารณาด้วย มิเช่นนั้นก็เป็นการเลือกปฏิบัติ

ป่าไม้โบ้ยอุทยานฯเป็นผู้ดำเนินการ

 เกี่ยวกับปัญหาการยึดคืนที่ดินเขายายเที่ยงดังกล่าว วันเดียวกัน นายสมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมป่าไม้ยังคงต้องรอหนังสือของอัยการที่จะส่งมาถึง ทส.ก่อน เพราะขณะนี้คงบอกอะไรล่วงหน้าไปก่อนไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กรมป่าไม้ได้เรียกผู้เกี่ยวกับกรณีนี้เข้าหารือเป็นการด่วนแล้ว  

 ด้านนายชลธิศ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรณีบ้านพักเขายายเที่ยงของอดีตนายกฯ ที่ผ่านมามีการตัดสินจากอัยการสีคิ้วว่าไม่ฟ้อง เพราะไม่มีเจตนา หาก พล.อ.สุรยุทธ์จะคืนพื้นที่แก่กรมป่าไม้ก็จบ แต่เนื่องจากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่อยู่ในโครงการหมู่บ้านป่าไม้ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงต้องถามไปยังกรมอุทยานฯ ด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนอีก 150 แปลง ที่เหลืออยู่และอาจเข้าข่ายเดียวกัน โดยหลักการจะใช้กระบวนการพิสูจน์การถือครองตามมติ ครม.หลายฉบับที่มีอยู่
 
"สุเทพ” สั่งตร.ตรึงเขายายเที่ยง

 เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว วันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.35 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงการเตรียมการรับมือการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบนเขายายเที่ยงว่า ในเบื้องต้นต้องช่วยกันดูแลอย่าให้มีการฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมือง อย่าทำอะไรด้วยอารมณ์รุ่มร้อนและฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้เชื่อว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่คงไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย แต่ต้องบอกไปถึงกลุ่มคนเสื้อแดงด้วยว่า อย่าทำอะไรที่ฝ่าฝืนกฎหมาย อย่าทำร้ายประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ส่วนตำรวจจะสั่งการให้ดูแลไม่ให้ทำร้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องรักษากฎหมาย ใครฝ่าฝืนก็ต้องดำเนินคดี ทั้งนี้ตำรวจจะต้องรวบรวมหลักฐานเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพนิ่ง วิดีโอ เทปบันทึกเสียง เพื่อใช้ในการดำเนินคดีกับคนที่ทำผิดกฎหมาย

 ขณะที่ พล.ต.ท.เดชาวัต รามสมภพ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เตรียมการดูแลความปลอดภัย และจากการข่าวยังไม่มีเหตุการณ์ใดบ่งชี้ว่าจะเกิดความรุนแรง ซึ่งระยะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องจะประชุมหารือทางด้านการข่าวทุกวัน เพื่อเตรียมความพร้อม ส่วนกำลังเจ้าหน้าที่ที่จะดูแลรักษาความปลอดภัยนั้นได้เตรียมไว้เป็นปกติอยู่แล้ว โดยจะใช้กำลังของตำรวจในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่

ชี้แดงใช้ยุทธวิธีโจมตีจุดอ่อน

 ขณะเดียวกันมีรายงานว่า หน่วยข่าวความมั่นคงที่จับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในช่วงเดือนมกราคมนี้ ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองมากที่สุดมีจุดเริ่มที่การชุมนุมบุกเขายายเที่ยงในวันที่ 10 มกราคมนี้ โดยกลุ่มเสื้อแดงได้กระจายกำลังกันเป็นสองสายคือต่างจังหวัด และสายที่รวมตัวจากกรุงเทพฯ เดินทางขึ้นเขายายเที่ยง ทั้งนี้ กลุ่ม นปช.แดงทั้งแผ่นดินประกาศใช้ยุทธวิธี “โจมตีจุดอ่อนที่ป้องกันไม่ได้” ขณะเดียวกันแกนนำในภาคอีสานมีการรับบริจาคสิ่งของต่างๆ ได้แก่ สังกะสี หลังคา โคเนื้อ โคนม และพืชผลทางเกษตรต่างๆ เพื่อนำไปแจกให้แก่กลุ่มคนเสื้อแดงและผู้ไร้ที่ทำกิน เพื่อร่วมกันสร้างที่อยู่อาศัย

 ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากความเคลื่อนไหวในการบุกเขายายเที่ยงแล้ว ยังมีการเตรียมการชุมนุมใหญ่ทั้งในส่วน กทม.และต่างจังหวัดอย่างพร้อมเพรียงในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

เสื้อแดงอัดสองมาตรฐาน

 ด้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนั้น วันเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสะท้อนถึงความอยุติธรรมอย่างที่สุด และสองมาตราฐานชัดเจน เพราะที่ผ่านมากรมป่าไม้ไม่เคยใช้เหตุผลเดียวกับที่ระบุว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่มีความผิด เพราะไม่ได้เจตนาไปตัดสินคดีบุกรุกที่ดินของชาวบ้านที่ยากไร้ และคราวที่อัยการสูงสุด กรมป่าไม้ เป็นโจทก์เคยยื่นฟ้องราษฎรรุกพื้นที่เขายายเที่ยง ไม่เคยยกเหตุผลนี้มาคุ้มครองราษฎร ดังนั้นเรื่องนี้ความผิดจึงไม่ใช่อยู่แค่ พล.อ.สุรยุทธ์ จะต้องรับผิด แต่รวมทั้งตำรวจ อ.สีคิ้ว ที่กล้าไม่สั่งฟ้อง รวมถึงกองปราบปราม อัยการสูงสุดและกระทรวงทรัพยากรฯ ต้องติดคุกให้หมด

 “ขอเตือนไปยัง พล.อ.สุรยุทธ์ ว่า ไม่ว่าใครจะอยู่เบื้องหลังการวางกลเกมที่คนเสื้อแดงรู้มาว่า จะมีการปิดฉากเรื่องนี้ด้วยการเผาบ้าน พล.อ.สุรยุทธ์ ที่เขายายเที่ยงหมดทั้งหลัง แล้วโยนความผิดให้คนเสื้อแดง ให้สังคมลืมการบุกรุกที่ดินครั้งนี้ แต่คนเสื้อแดงขอประกาศว่า เราจะไม่เข้าไปในบ้านของ พล.อ.สุรยุทธ์ แต่จะชุมนุมบริเวณลานหน้าบ้าน ตั้งตีนเขา 10 กม. ดังนั้นถ้าไฟไหม้ก็คงไหม้มาจากในบ้าน ไม่ใช่เกิดจากเรา“ แกนนำ นปช.กล่าว

 ขณะที่ นายเขื่อนเพ็ชร โพนรัมย์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า วันจันทร์ที่ 11 มกราคม กลุ่มคนเสื้อแดงจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม นปช. นัดรวมพลกันในเวลา 07.00 น. ที่บริเวณปากทางเข้าเขื่อนลำตะคอง และปากทางเข้าเขายายเที่ยง ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว โดยจะเดินเท้าไปตามถนนเขายายเที่ยงไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าบ้าน พล.อ.สุรยุทธ์ ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งจะอยู่ในบริเวณนั้น ส่วนจะรวมพลใหญ่บริเวณจุดใดตอนนี้ยังบอกอะไรไม่ได้ ต้องให้ถึงเวลานั้นก่อน ซึ่งยืนยันว่าจะมีพี่น้องคนเสื้อแดงไปรวมพลังกันทุกจังหวัดทั่วทั้งประเทศ และมีไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน

 วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบองคมนตรี นายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทยและเครือข่าย ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี ลาออกจากตำแหน่งประธานหรือองคมนตรี โดยมีนายศิริ ปะทะธนัง นิติกร 7 กองนิติการ สำนักราชเลขาธิการ เป็นผู้ออกมารับหนังสือ ในหนังสือได้ระบุว่า บุคคลทั้งสามมีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมมือวางแผนให้เกิดการปฏิวัติในวันที่ 19 กันยายน 2549 เพื่อโค่นล้มอำนาจการบริหารประเทศของรัฐบาลในขณะนั้น จึงเห็นชัดว่าบุคคลทั้งสามขาดคุณสมบัติ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ที่จะดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีและองคมนตรีอันมีตำแหน่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งต่อไป