ข่าว

ไทยสร้างไทย สอนมวยรัฐบาลแก้ไขโรค"ลัมปีสกิน" ที่เกิดขึ้นกับวัว-ควาย

ไทยสร้างไทย สอนมวยรัฐบาลแก้ไขโรค"ลัมปีสกิน" ที่เกิดขึ้นกับวัว-ควาย

04 มิ.ย. 2564

ไทยสร้างไทย สอนมวยรัฐบาลแก้ไขโรค"ลัมปีสกิน" ที่เกิดขึ้นกับวัวควาย ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว-ควาย

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาพรรคไทยสร้างไทยได้กระตุ้นเตือนรัฐบาลให้ทำการรีบเร่งต่อการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว-ควาย ซึ่งเกิดโรคระบาดอุบัติใหม่ที่เรียกว่าลัมปีสกิน(Lumpy skin disease) โดยได้ปรากฏเริ่มต้นมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2564 ในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ซึ่งที่หนักสุดคือภาคอีสาน พรรคไทยสร้างไทยโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญของพี่น้องเกษตรกร จึงได้กำชับให้สมาชิกพรรคในพื้นที่ที่มีโรคระบาดได้ติดตามประสานการช่วยเหลือเกษตรกรโดยใกล้ชิดตลอด เป็นที่อ่อนอกอ่อนใจ

 


ในข้อมูลการระบาดของโรคลัมปีสกินที่ภาครัฐได้ให้ข้อมูลสู่สาธารณะว่ามีวัวควายติดโรค 7,000 ตัว และตาย 200 ตัว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริงตัวเป็น 10 เท่า นั้นคือปัจจุบันมีการระบาดไปแล้ว 35 จังหวัด วัวควายติดโรคมากกว่า 250,000ตัว และตายไปมากกว่า 10,000 ตัว และในช่วงที่ผ่านมาพรรคไทยสร้างไทยได้เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหากับรัฐบาลไปหลายประการ แต่ที่สำคัญสุดคือขอให้รัฐบาลรีบนำวัคซีนแก้โรคลัมปีสกินมาช่วยเกษตรกรโดยด่วน


แต่จนบัดนี้ก็ดูเหมือนว่าเกษตรกรก็ได้รับข่าวดีเพราะรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรออกข่าวเปิดตัวใหญ่โต ว่าได้นำวัคซีนเข้ามาแล้ว 60,000 โดส แต่ข่าวร้ายก็คือในประเทศไทยมีโคเนื้อประมาณ 7.7 ล้านตัว ควายประมาณ 1.5 ล้านตัว โคนมประมาณ 8 แสนตัว รวมตัวเลขกลมๆ ประมาณ 10 ล้านตัว นั้นแสดงว่าวัวควายที่โชคร้ายไม่ได้ฉีดวัคซีนมากกว่า 9 ล้านตัว ซึ่งเกษตรกรรายใดโชคดีมากๆ ก็จะได้วัคซีนไปฉีดวัวควาย แต่ส่วนใหญ่ก็คงได้แต่หวังพึ่งโชคชะตาเท่านั้น


พรรคไทยสร้างไทยเห็นว่า  โรคลัมปีสกินเป็นภัยร้ายใหญ่หลวงต่อสัตว์ไม่แพ้โรคโควิท19 ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เพราะหากวัวควายติดโรคและล้มตายก็จะเป็นความศูนย์เสียนำความหายนะมาสู่เกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการขยายวงของโรคลัมปีสกินลดการศูนย์เสียของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวควาย


พรรคไทยสร้างไทยขอเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหามายังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 
1. ต้องรีบจำกัดพื้นที่ๆ เกิดโรคไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายวัวควายและหากพื้นที่ใดปรากฎการเกิดโรคก็ให้รีบประกาศเป็นพื้นโรคภัยพิบัติสัตว์โดยด่วน และให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ลักษณะคือ 
1)พื้นที่เกิดโรคให้เข้าสู่ขบวนการรักษาตามแนวทางที่ถูกต้อง 
2)ส่วนพื้นที่ๆยังไม่ระบาดจะต้องป้องกันโดยฉีดวัคซีนวัวและควายทุกตัว


2. เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านไม่เพียงพอต้องรีบทำการโยกย้ายบุคลากรจากพื้นที่ปกติมาช่วยรุมสกัดโรคให้จบโดยเร็ว และรัฐบาลต้องรีบจัดสรรค์งบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมือ เวชภัณฑ์ยาต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที ขณะนี้เปรียบเสมือนว่าสั่งให้ไปรบปืนก็ไม่ให้ กระสุนก็ไม่มี เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่สู้ปัญหาด้วยมือเปล่าเป็นที่หน้าเห็นใจยิ่ง


3. กรณีที่วัวควายเกษตรกรล้มตายรัฐบาลต้องวาง มาตรการเยียวยาที่เหมาะสมชัดเจนทันท่วงทีว่าจะมีการเยียวยาชดเชยอย่างไร เช่น 30% 40% หรือ 50% ของมูลค่าของวัวควาย อย่าปล่อยประเด็นนี้จบไปอย่างไม่มีคำตอบ

4. ในหมู่บ้านยังมีส่วนของ อมส.ดูแลสุขภาพของคน ส่วนของสัตว์เลี้ยงวัวควายก็ควรมี อาสาปศุสัตว์ดูแลสัตว์เลี้ยง 1 คนต่อ 1 หมู่บ้านเช่นกัน และควรมีค่าตอบแทน เช่น 500 บาทต่อเดือน ก็จะทำให้เป็นมือเป็นไม้สื่อสารและดูแลช่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อย่างทั่วถึง


5. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องรีบเร่งจัดหาวัคซีน เข้ามาเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการป้องกันโรค  และที่สำคัญที่สุดรัฐบาลต้องปลดล็อกเปิดเสรีเป็นการเฉพาะให้ภาคเอกชน เจ้าของฟาร์ม และเกษตรกร สามารถสั่งซื้อวัคซีนจากต่างประเทศได้โดยตรงจะเป็นผลดียิ่งกับทุกฝ่าย


จึงขอย้ำเตือนและเสนอแนะมายังรัฐบาลอีกครั้งหนึ่งก่อนที่โรคลัมปีสกินระบาดไปทุกพื้นที่ของประเทศ  ซึ่งนั่นหมายถึงหายนะอันยิ่งใหญ่ของเกษตรกรชาวไทย

ทองหล่อ พลโคตร
พรรคไทยสร้างไทย
มหาสารคาม