"ศรีสุวรรณ" บุกกระทรวงยุติธรรม ยืนชำแหละ 152 องค์กรผู้บริโภคทิพย์
"ศรีสุวรรณ จรรยา" เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย บุกกระทรวงยุติธรรม ยื่นเรื่องสอบพิรุธ 152 องค์กรผู้บริโภคทิพย์
เมื่อเวลา 10.00 น. (14 ก.ย.) ที่กระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา "ศรีสุวรรณ" เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยุติธรรม) เพื่อขอให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภค 152 องค์กร ที่เข้าชื่อจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค ว่ามีคุณลักษณะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ นาย"ศรีสุวรรณ" ระบุว่า เนื่องจากตรวจสอบพบว่า มีบางองค์กรถูกจัดตั้งขึ้นมาลอยๆ เพื่อให้ครบจำนวนตามกฎหมายกำหนด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะนำไปจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ด้วยหรือไม่ ดังนั้น จึงอยากให้มีการสุ่มตรวจ องค์กรเหล่านี้ ว่าเป็นไปตามบัญชีรายชื่อ ที่ สปน. ได้ประกาศเอาไว้ในระดับจังหวัดหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกลงไป และไปทำการตรวจสอบ จึงทราบว่า องค์กรผู้บริโภค ที่แจ้งไว้นั้น กลับไม่มีคนในพื้นที่รู้จัก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่แปลก และน่าตกใจ
เมื่อตรวจสอบในเชิงลึก และได้มีการพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งชาวบ้าน พบว่า หลายองค์กรไม่มีอยู่ ตามที่ได้มีการจดแจ้งไว้ หและไม่มีการทำกิจกรรมใดๆ อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่รู้จักเลย ประกอบกับที่อยู่จดแจ้ง หรือสถานที่ตั้ง ในทะเบียนราษฎร์ ก็ไม่มีเลขที่นี้ในสารบบ อีกทั้งบางองค์กร ยังไม่มีสถานที่ตั้ง อาจถือได้ว่ามีคุณลักษณะไม่เป็นไปตาม มาตรา6 (ม.6) ประกอบ มาตรา5 (ม.5) ของกฎหมายข้างต้น ด้วยเหตุนี้ จึงได้ทำบันทึก ถ่ายรูป อัดคลิปเสียงของผู้ให้ข้อมูล และนำหลักฐานทั้งหมด เข้ามามอบให้กับทางกระทรวงยุติธรรม เพื่อขยายผลสอบ 152 องค์กรต่อไป
ทั้งนี้ ตาม ม.5 แห่งพรบ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 2562 กำหนดไว้ว่า การที่จะใช้สิทธิเข้าชื่อกัน เพื่อเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้นั้น องค์กรผู้บริโภคดังกล่าว จะต้องดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคให้ “เป็นที่ประจักษ์” มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 2 ปี ตามกฎหมายกำหนด ต่อมาเมื่อมีการสุ่มตรวจ จึงพบว่าองค์กรมากกว่า 16 แห่ง ไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จึงเชื่อว่าอีก 136 องค์กรที่เหลือ ก็อาจจะมีลักษณะเดียวกันก็เป็นได้ คาดว่ากระทรวงยุติธรรม จะมีศักยภาพในการตรวจสอบได้ครบทุกองค์กร
อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบแล้วพบว่า องค์กรที่ระบุไว้ ไม่มีคุณลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ที่ร่วมจัดตั้ง และผู้ที่เข้าชื่อเสนอนายทะเบียน อาจจะต้องเข้าข่าย "แจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่รัฐ" ตาม ป.อ.มาตรา 137 ที่บัญญัติไว้ความว่า "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ดังนั้น จึงนำเรื่องดังกล่าว เข้าร้องเรียนกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อเอาผิด เนื่องจากการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคดังกล่าว อาจถือเป็น "โมฆะ" ตามกฎหมาย และจะส่งผลให้การทำนิติกรรมต่าง ขององค์กร เป็นโมฆะด้วยเช่นกัน "ศรีสุวรรณ" ระบุ