ข่าว

"กมธ ส.ส." ชี้ชัดควบรวมทรูดีแทค ส่อผูกขา  ชงเบรคดีล ป้องผลประโยชน์ชาติ

"กมธ ส.ส." ชี้ชัดควบรวมทรูดีแทค ส่อผูกขา ชงเบรคดีล ป้องผลประโยชน์ชาติ

11 ส.ค. 2565

"กมธ ส.ส." ชี้ชัดควบรวมทรูดีแทค ส่อผูกขาด ผู้บริโภคเดือดร้อน ชงเบรคดีล ป้องผลประโยชน์ชาติ ด้านศิริกัญญา ยัวะ!! หลัง "ชัยวุฒิ" แจง ปล่อยควบไปก่อน ค่อยคุมราคา มั่นใจไม่มีฮั้ว? แนะหารายใหม่แทนดีแทค ที่เตรียมถอนการลงทุน

  
นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรู กับ ดีแทค และการค้าปลึก - ค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในรายงานที่เสนอไปยัง นายกรัฐมนตรี มีผลกระทบหลากหลายด้าน ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแล อย่าง กสทช. เมื่อมีอำนาจอยู่เต็มมือก็ไม่ควรปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้เสียประโยชน์ พร้อมย้ำว่าการพิจารณาของกรรมาธิการได้ยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง ซึ่งกรรมาธิการได้พิจารณาศึกษาครอบคลุมทั้งทุกมิติและหากท้ายที่สุดดีลควบรวมนี้เกิดขึ้นจริงผู้บริโภคอาจจะแบกรับภาระค่าบริการสูงถึง 200%  และค่า HHI สูงขึ้นมากกว่า 2,500 จุดและเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 1,000 จุด ส่งผลต่อภาวการณ์แข่งขัน เสี่ยงต่อการใช้อำนาจเหนือตลาด เป็นอุปสรรครายใหม่เข้าสู่ตลาดเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ ลดการแข่งขันอย่างเสรี

น.อ.อนุดิษฐ์ ย้ำว่า กฎหมายได้กำหนดอำนาจให้ กสทช.ควบคุมและชัดเจนแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับการตีความและผู้บังคับใช้กฎหมายนี้ใช้ระเบียบข้อบังคับด้วยความจริงจังและจริงใจในการจะนำเอาอำนาจของตัวเองมากำหนดมาตรการของหน่วยงานกำกับ ให้มีความชัดเจน เพื่อไม่ให้การรวมธุรกิจเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ประชาชน ประเทศชาติ ในระยะสั้น ระยะยาว


 

ทางด้าน นส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ โฆษกคณะกรรมาธิการ ตั้งกระทู้ถสดถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีเศรษฐกิจผูกขาด ซึ่งนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(DES) เป็นผู้ตอบแทน ว่า การควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรู กับ ดีแทค โดยกังวลต่อการควบรวมกิจการสำเร็จจะทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีผู้ให้บริการเพียง 2 รายใหญ่ และเป็นเอกชนทั้งคู่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดก็คือประชาชน  

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า หากนำผลการศึกษาถึง 5 หน่วยงานมาวิเคราะห์ซึ่งทุกผลการศึกษาชี้ชัดว่าการรวบรวมกิจการโทรคมนาคมนี้จะทำให้ราคาค่าบริการแพงขึ้น ขั้นต่ำ 10% ซึ่งเป็นข้อมูลจากที่ปรึกษา TRUE - DTAC และยังมีการศึกษาอีกว่าถ้าการควบรวมนี้เกิดการฮั้ว(กำหนดราคา) ก็จะทำให้ค่าบริการยิ่งแพงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะจากการศึกษาของคณะอนุกรรมการ กสทช.ที่ชี้ว่าจะแพงขึ้น 49-200% หมายความว่าถ้าทุกวันนี้จ่ายค่าบริการเน็ต 100 บาท อนาคตอาจจะต้องจ่ายเป็น 150-300 บาท ซึ่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนอย่างเต็มที่ และซ้ำเติมเรื่องของเงินเฟ้อที่เฟ้อไม่หยุดในเวลานี้

 

เพราะนอกจากเรื่องของผู้บริโภคยังกระทบต่อเศรษฐกิจดิจิตอลที่ผู้ประกอบการอาจจะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ลูกค้าที่ใช้บริการสินค้าดิจิตอลก็ต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้นตามด้วย แล้วจะพัฒนาต่อไปได้อย่างไร ยังไม่นับรวมการผูกขาดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งจะต่อยอดไปยังบริการอื่นๆ เช่น ทางการเงิน การปล่อยให้เกิดการผูกขาดทางการค้าปลีกไปแล้วหลายช่องทาง ก็อาจจะถูกกีดกันกับ ผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขัน เช่น ไม่ให้วางขายซิม ไม่ให้เติมเงินในร้านสะดวกซื้อ พร้อมกับตั้งคำถามว่าได้เคยศึกษาถึงผลเสียหายต่อเศรษฐกิจประเทศหรือไม่ การจ้างงานของคนไทยจะหายไปกี่ตำแหน่ง กฎระเบียบที่มีอยู่จะเพียงพอต่อการเยียวยาถึงผลกระทบที่เกิดจากการควบรวมหรือไม่ รวมไปถึงการดูแลการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยเห็นว่าเรื่องนี้อำนาจ และความรับผิดชอบอยู่ที่รัฐบาลโดยตรงว่าจะสามารถแก้ไขสถานการณ์นี้ได้หรือไม่
 

  
ทางด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(DES) ตอบว่า รัฐบาลมีนโยบายให้มีการแข่งขันอย่างเสรีอยู่แล้วและไม่เชื่อว่าเอกชนสองรายจะฮั้วกัน รวมทั้งรัฐบาลไม่มีอำนาจในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกำกับดูแลกรณีควบรวมทรู-ดีแทค เพราะเป็นอำนาจของ กสทช. แต่นโยบายของรัฐบาลคือให้มีการแข่งขัน ไม่เอื้อประโยชน์ให้ใคร พร้อม ยืนยันว่าทางกระทรวงได้มีการติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งกรณีการควบรวมกิจการ การฮั้วเพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้อย่างแน่นอน และเท่าที่ได้พูดคุยกับ กสทช. ก็มีแนวคิดที่ตรงกันว่า กสทช.มีอำนาจควบคุมราคาค่าบริการได้ และมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไม่ให้ขึ้นราคาอย่างแน่นอน และถ้ามีการแข่งขันกันอย่างไม่เป็นธรรมก็จะมีการออกมาตรการโดย กสทช.ต่อไปเพื่อกำกับดูแล
 

 

นางสาวศิริกัญญา กล่าวปิดท้ายว่า ตนเองทราบดีว่าเป็นหน้าที่กำกับดูแลโดย กสทช. แต่ในฐานะรัฐบาล ท่านได้ศึกษาประเมินบ้างหรือไม่ว่ามูลค่าความเสียหายของเศรษฐกิจดิจิทัลจะอยู่ที่กี่พันล้านบาท งานของประชาชนคนไทยจะหายไปกี่ตำแหน่ง และถ้าผลกระทบมากขนาดนี้ ท่านคิดว่ากฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ ที่มีอยู่นั้นพอหรือไม่ที่จำเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่
ต้องยอมรับว่าในหลายครั้ง ต้องเป็นบทบาทและนโยบายของทางรัฐบาลในการเจรจาดึงดูดนักลงทุน แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่างๆ เพื่อทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้น นี่คือนโยบายจากทางรัฐบาลทั้งสิ้น และทุกประเทศก็ทำกัน เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นตัวกลางและใส่เงินในการเจรจาควบรวมบริษัทผลิตชิปภายในประเทศเมื่อเกิดวิกฤติ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อให้เกิดการผูกขาดในประเทศ แต่เพื่อความแข็งแกร่งของบริษัทที่จะไปแข่งในตลาดโลก

 

ดังนั้น ตนเรียกร้องให้รัฐบาลต้องมีบทบาทนำในประเด็นนี้มากขึ้น ทางเลือกที่เหลืออยู่ หากจำเป็นจะต้องหานักลงทุนรายใหม่เข้ามาแทนดีแทคที่จะถอนหรือลดการลงทุนจากภูมิภาคนี้ ก็มีอยู่ไม่กี่ทางเลือก คือ


1.ให้รัฐวิสาหกิจมาเทคโอเวอร์ เช่น NT (แต่ตนไม่สนับสนุนแนวทางนี้)


2.ดึงดูดนักลงทุนจากในประเทศรายใหม่ ก็เกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรงว่าจะเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคมหรือไม่


รัฐบาลจะตอบกับประชาชนอย่างไรเมื่อพวกเขามองว่าท่านไม่พยายามอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการควบรวมผูกขาดครั้งนี้ และเขาตั้งข้อสงสัยว่าท่านไม่ทำอะไรเลยจากการดีลควบรวมในครั้งนี้ เพราะท่านได้ประโยชน์ดีลผูกขาดนี้เช่นกัน" ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย