ข่าว

"สุชาติ" เพิ่มโอกาสแรงงานไม่มีวุฒิการศึกษา เปลี่ยนเป็นวุฒิอาชีพแทน

"สุชาติ" เพิ่มโอกาสแรงงานไม่มีวุฒิการศึกษา เปลี่ยนเป็นวุฒิอาชีพแทน

14 ก.ย. 2565

"สุชาติ" ดันพัฒนาฝีมือแรงงาน สร้างโอกาสให้กับผู้ที่ไม่มีวุฒิการศึกษาได้รับวุฒิวิชาชีพแทน เพื่อการจ้างงานและรายได้ที่เพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธี เปิดงาน “คุณวุฒิวิชาชีพ คุณวุฒิของคนทำมาหากิน” 

 

นายสุชาติ กล่าวว่า การยกระดับศักยภาพกำลังแรงงานของประเทศ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบุคลากรและกำลังแรงงานของประเทศในสาขาอาชีพต่างๆ ให้เป็นแรงงานคุณภาพ มีทักษะและความเชี่ยวชาญระดับสูงได้การรับรองตามมาตรฐานอาชีพ ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นคุณวุฒิใหม่ของประเทศไทยที่ให้การรับรองความรู้ ทักษะ และความสามารถของกำลังแรงงาน เพื่อให้พี่น้องพัฒนาตัวเองและมีรายได้เพิ่มขึ้น ได้รับคุณวุฒิที่เทียบเท่ากับคุณวุฒิการศึกษาในระดับต่างๆ

ขณะนี้กำลังแรงงานของประเทศไทยมีอยู่มากกว่า 38 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 37.7 ล้านคน ว่างงานอีก 748,268 คน และเป็นแรงงานนอกฤดูอีกราว 2 แสนคน

 

ส่วนผู้ที่ไม่ใช่กำลังแรงงานซึ่งมีทั้งเด็ก คนชรา ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณมีอีกกว่า 18 ล้านคน  เป็นตัวเลขที่รัฐบาลได้หาแนวทางที่ทำให้กำลังคนให้มีโอกาสในการเสริมสร้างศักยภาพของตัวเอง Up skill - Re skill เพื่อทำให้กำลังแรงงานเหล่านั้นมีโอกาสในการเสริมสร้างทักษะและศักยภาพของตัวเองเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพเป็นที่ต้องการของตลาด 

สำหรับผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิทางศึกษา ก็จะได้รับคุณวุฒิวิชาชีพที่พร้อมให้การรับรอง ความรู้ ความสามารถ และเมื่อสังคมเกิดการยอมรับคุณวุฒิวิชาชีพ ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน เพิ่มโอกาสในการปรับตำแหน่งหน้าที่ให้สูงขึ้น สามารถเจริญเติบโตก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งในต่างประเทศได้ให้การยอมรับในเรื่องความรู้ ทักษะ ความสามารถ ประสบการณ์ในการทำงานกันมานานแล้ว ประเทศไทยเองก็ต้องสร้างการยอมรับสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว 

 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับคนว่างงาน แรงงานนอกฤดูกาล หรือผู้ที่จะก้าวเข้าสู่กำลังแรงงาน รัฐบาลก็ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การเป็นรัฐบาลดิจิทัล มีธนาคารหน่วยกิตสะสมผลการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษาเพื่อการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง เพราะนอกจากการศึกษาในห้องเรียนแล้วต้องมีการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีดิจิทัล และการฝึกประสบการณ์ ควบคู่กันไปด้วย 

 

ขณะเดียวกันต้องฝากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการให้การส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรของตนให้มีโอกาสเข้ารับการศึกษา การฝึกอบรม และการเรียนรู้โดยรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความพร้อมและมีภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราทุกคนจะพัฒนาไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เมื่อทุกคนมีภูมิต้านทานที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติหรือภัยคุกคามประเภทไหน ก็จะต่อสู้ฝ่าฟันไปได้และเกิดเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง