ข่าว

ค่าใช้จ่าย หาเสียงเลือกตั้ง ทำ นักการเมือง หวั่นไหว

ค่าใช้จ่าย หาเสียงเลือกตั้ง ทำ นักการเมือง หวั่นไหว

21 ก.ย. 2565

บรรดานักการเมือง พากันวิตกกังวล เรื่องค่าใช้จ่าย ในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ กกต.ยังไม่ได้กำหนด เริ่มนับหาเสียงเลือกตั้ง 24 กันยา ตามวาระสภาผู้แทนราษฎร

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ส่วนที่4 มาตรา62- มาตรา83ด้วเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงสรางความปริวิตกให้นักการเมืองฝ่ายค้านและพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาใหม่ มากกว่าพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะในวงเล็บ1 มาตรา 68 ที่ระบุให้ให้คณะกรรมการกําหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้กระทําได้ตั้งแต่หนึ่งร้อยแปดสิบวันก่อนวันครบอายุ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง เช่นเดียวกับการคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ระบุไว้ในมาตรา64 วงเล็บ 1

ซึ่งหากนับวาระของสภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระวันที่ 24 มีนาคม 2566 กำหนด 180 วัน ก่อนครบวาระ ถูกปักหมุดไว้ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 เป็นต้นไป ส่วนการยุบสภาหรือเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้นับตั้งแต่วันยุบสภาหรือวันที่ตำแหน่งว่าง จนถึงวันเลือกตั้ง

 

การกำหนดค่าใช้จ่ายการหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองเป็นหน้าที่ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งหารือกับพรรคการเมืองและต้องมีการทบทวนให้กำหนดจำนวนเงินให้สอดคล้องกับความจำเป็นและสภาวะทางเศรษฐกิจอย่างน้อยทุกสี่ปี ให้คณะกรรมการประกาศประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไว้เป็นตัวอย่างให้ผู้สมัครพรรคการเมือง และประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ประกาศดังกล่าวให้มีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน

 

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่สร้างกังวลให้นักการเมืองวิตกกังวล แม้ในวรรค3 ของมาตรา 65 จะระบุไว้ว่าไม่ให้ใช้บังคับกับการให้ตามตามปกติประเพณี หรือ เมื่อมีเหตุอันควรแต่ก็ต้องเป็นไปตาม จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด   วัน อยู่บำรุง ส.ส.เพื่อไทยแห่งครอบครัวใจถึงพึ่งได้ ถึงกับโพสต์บนเฟสบุ๊คว่า “ตั้งแต่24กันยายน65จนถึงครบวาระสภาผู้แทน23มีนาคม66และจนถึงวันเลือกตั้งส.ส.ครั้งต่อไปการที่ส.ส.จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกๆเรื่องนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเหลือเกิน” 

 

เฟสบุ๊ค วัน อยู่บำรุง ส.ส. เพื่อไทย

เช่นเดียวกับพรรคไทยสร้างไทย ที่กังวลเรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชน จากอุทกภัยจะขัดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่  ในขณะที่รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล อาจได้เปรียบหาเสียงแอบอิงไปกับนโยบายของแต่ละกระทรวงที่พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคดูแลอยู่

 

กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ยังกำหนดให้ผู้สมัคร และ พรรคการเมืองต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่าย รวมถึงรายการค้างจ่าย ต่อคณะกรรมการภายใน90 วันนับจากวันเลือกตั้ง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีประกาศจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม2562 กำหนดวงเงินไว้ไม่เกินคนละ 1.5 ล้านบาท
 

หากต้องมีการเลือกตั้งใหม่เพราะอายุสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลง รัฐธรรมนูญมาตรา 102กำหนดให้ตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ

 

แต่หากต้องมีการเลือกตั้งเพราะยุบสภา รัฐธรรมนูญมาตรา 103 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

Line:https://lin.ee/qw9UHd2-

YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote

https://www.komchadluek.net/entertainment/524524