กกต. แจง "180 วัน" หาเสียง เลือกตั้ง แค่หนังตัวอย่าง
รองเลขาธิการ กกต. แจง กรรมาธิการฯ ระเบียบ 180 วัน "เลือกตั้ง" ก่อนสภาครบวาระ แค่แนวทางปฏิบัติ ทำบุญ-ช่วยงานได้ แต่ห้ามระบุชื่อ
ร้อยตำรวจเอกชนินทร์ น้อยเล็ก เข้าชี้แจง กรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาประเด็นแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงระยะเวลา 180 วัน ก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎร มีเนื้อหาสำคัญว่า"ผู้สมัครฯ" และ ส.ส.สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ในการเข้าร่วมงานบุญหรืองานต่างๆ แต่ต้องแบ่งแยกให้ชัดเจนว่าไปภารกิจก็คือไปภารกิจ ไปหาเสียงก็คือหาเสียง ถ้าใช้โอกาสร่วมงานเพื่อไปหาเสียง ก็เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน หรือเป็นความผิดได้
เช่น หากมีผู้เชิญไปทอดผ้าบังสุกุลก็สามารถไปทอดผ้าได้ แต่ต้องไปให้มีการประกาศว่าเป็นผู้สมัคร พรรคการเมืองใด ขึ้นทอดผ้า ถือเป็นการใช้โอกาสในทางที่ผิด
"งานศพจัดได้แน่นอน แต่งานบวช งานแต่ง ถ้าหากต้องจัดก็ขอให้ระวังเพราะอาจเข้าข่ายการจัดเลี้ยงหรือมีมหรสพรื่นเริงได้ และขอให้จัดในวงแคบที่สุด เพื่อความปลอดภัยให้มีเฉพาะญาติสนิทมิตรสหาย หากจำเป็นต้องจัดอย่างใหญ่โตจริงๆก็ควรให้เลยช่วงเลือกตั้งไปแล้วเพื่อให้หมดปัญหาไป"
สำหรับเรื่อง "ป้าย" หาเสียงนั้น กำหนดขนาด 1 แผ่นไม้อัด ขนาด 125×220 ซม. โดยประมาณ ส่วนใบประกาศขนาด A3 เป็นไปตามระเบียบเดิม ยกเว้นป้ายประจำอาคารศูนย์เลือกตั้งตามขนาดประมาณ 4×7 เมตร ป้ายติดยานพาหนะหรือป้ายติดรถโฆษณาหาเสียงไม่จำกัดขนาด แต่ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก คือให้มีความมั่นคงแข็งแรงปลอดภัย ส่วนป้ายบนเวทีหาเสียงเป็นไปตามขนาดเวที ไม่จำกัดขนาด และต้องคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด
กรรมาธิการฯ ได้ซักถามทาง กกต. ในประเด็นต่างๆ ที่กว้างขวาง เช่น การบริจาคสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในช่วงเกิดภัยพิบัติสามารถทำได้หรือไม่ และข้อความบนป้ายหาเสียงควรมีเนื้อหาสาระอย่างไร
ร้อยตำรวจเอกชนินทร์ ระบุว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าการหาเสียงคือการค้านโยบายและตัวตนของเราเพื่อให้เกิดความนิยม จึงต้องมีกฎหมายกำหนดว่าห้ามการนำสิ่งของหรือเงินไปมอบให้
"หากสงสารประชาชนจริงๆ จะต้องบริจาคให้ได้ ท่านก็บริจาคโดยที่ไม่แสดงตัวตน ถ้าอย่างนั้นจะได้บุญเยอะกว่า เคยแนะนำคนอื่นไปเยอะเรื่องนี้ เขาก็บอกไม่ได้ ต้องแสดงตัวตนให้ได้ ก็จะเข้าข่ายความผิด คนเงินเยอะก็จะได้เปรียบ ทำนอกเขตได้ไหม ถ้าท่านไปแอบทำ ไม่มีใครรู้เห็น ก็ไม่มีใครว่าครับ ท่านได้บุญล้วนๆ แต่ถ้าทำแล้วมาโพสต์เฟซบุ๊กแบบนี้ เป็นการหาเสียงอย่างหนึ่ง"
นอกจากนี้ยังมีคำถามที่กรรมาธิการฯซักถาม เช่นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเลือกตั้งก็ยังไม่ได้เคาะว่าเป็น 1.5 ล้านบาทหรือเท่าใด เพราะการกำหนด 180 วัน จะอยู่ในกรณีสภาอยู่ครบวาระ แต่หากมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนหน้า กฎดังกล่าวนี้จะเริ่มนับตั้งแต่ตอนไหน
-เมื่อความผิดเริ่มนับตั้งแต่มีการประกาศกฤษฎีกา แต่หากมีการส่งมอบเงินหรือสิ่งของกันในวันนี้ แล้วต่อไปเกิดการยุบสภา อยู่ไม่ครบเต็มวาระตามที่ กกต. กำหนดไว้ 180 วัน แล้วความผิดที่เกิดขึ้นในวันนี้จะยังคงอยู่หรือไม่
-แนวทางที่ กกต. ออกมาในช่วง 180 วันก่อนมีพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีการระบุว่ายังไม่ครบองค์ประกอบ ดังนั้นจึงไม่มีความผิด ถ้าเช่นนั้นจะมีข้อห้ามไว้ทำไม เหตุใดไม่รอประกาศกฤษฎีกาก่อน
ร้อยตำรวจเอกชนินทร์ ชี้ว่า การใช้งบประมาณหาเสียง ให้ถือตามเกณฑ์เดิมไปก่อน เพราะในช่วงแรกคาดว่าคงไม่มีใครใช้ไปถึง 1.5 ล้านบาททันที คงจะเป็นการทยอยใช้ จึงได้ออกประกาศเป็นแนวทางไว้ก่อน หากไม่ออกประกาศออกมาก็จะมีคำถามอีกว่าทำอะไรได้บ้าง
ก่อนจะย้ำว่า แนวทางไม่ใช่กฎระเบียบ ไม่มีข้อผูกพัน เพียงแต่กำหนดไว้เป็นแนวทางให้เข้าใจ เพื่อให้ระเบียบเกิดความชัดเจนมากขึ้น จึงตัองยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นเกิดเป็นภาพ ว่าอะไรทำได้ไม่ได้
ส่วนการหาเสียงทางออนไลน์ หากมีค่าใช้จ่ายก็ต้องคิดรวมด้วย แต่หากไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายก็ไม่ต้องนำมาคิด ในกรณีมีแฟนคลับมาช่วยหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ หากใช้งบประมาณเกิน 10,000 บาท ต้องมาแจ้งผู้สมัครฯ ให้นำมาคิดรวมด้วย
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote
https://www.komchadluek.net/entertainment/524524