ข่าว

แก้ "น้ำท่วม" วารินชำราบ "ปลอดประสพ" แนะ นายกฯ สร้างเขื่อนดินติดแม่น้ำมูล

แก้ "น้ำท่วม" วารินชำราบ "ปลอดประสพ" แนะ นายกฯ สร้างเขื่อนดินติดแม่น้ำมูล

02 ต.ค. 2565

แก้ "น้ำท่วม" วารินชำราบ อุบลราชธานี แบบยั่งยืน ควรสร้างเขื่อนดินติด แม่น้ำมูล เตือน พายุยังไม่หมด คาดการณ์กระทบภาคใต้ตั้งแต่ ประจวบคีรีขันธ์ ลงไป

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่ากากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว Plodprasop Suraswadi ถึงแนงทางการแก้ไขปัญหา "น้ำท่วม" ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่มักจะเกิดขึ้นซ้ำซากทุกฤดูฝน พร้อมถึงระบุ ถึง กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลงพื้นที่ที่ อุบลราชธานี ในวันจันทร์นี้ 

โดย ดร.ปลอดประสพ ระบุว่า จะช่วย วารินชำราบ อย่างยั่งยืนได้อย่างไร  ผมอยู่เชียงใหม่ บ้านอยู่ริมแม่น้ำปิง ขณะนี้น้ำกำลังขึ้นและไหลแรง มีสนุ่นไหลผ่าน เป็นพวกกอไผ่กับเศษไม้แห้ง ซึ่งก็คงจะแปลว่า มีฝนตกบนภูเขาแถวดอยเชียงดาวและดอยผ้าห่มปกและน้ำป่าได้พัดพาเอาเศษไม้โดยเฉพาะไม้ไผ่จากป่าซางลงมา แต่มองดูแล้วไม่มีไม้ใหญ่ แสดงว่า แม้ฝนจะมากแต่คงไม่รุนแรง ระดับน้ำฝนคงไม่เกิน 50 มม. ปีนี้แปลก
 

นักวิทยาศาสตร์ล้วนเข้าใจดีว่า เกิดจากภาวะโลกร้อน เหตุการณ์จึงไม่ปกติ ปีนี้ร่องฝนอยู่กับเรานานมากและก็น่าจะอยู่ต่อไปอีกหลายอาทิตย์ แถมยังเป็นร่องฝนที่ยาว มองดูเหมือนเข็มขัดหรือสะพานน้ำมัดประเทศไทยไว้ จึงขอเตือนประชาชนและรัฐบาลว่า ฝนฟ้าพายุและ "น้ำท่วม" สำหรับประเทศไทยตอนบนและตอนกลางยังไม่หยุด อย่าชิงเหนื่อยเสียก่อน

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี

ดร.ปลอดประสพ ระบุต่อว่า ทราบว่า นายกประยุทธ์จะไปอุบลราชธานีวันจันทร์ ซึ่งผมก็ว่าดี เพราะเป็นระยะของการช่วยเหลือ ไม่ใช่ระยะเผชิญเหตุแบบที่คุณอนุพงษ์ไปแล้วเครื่องบินลงไม่ได้ (ซึ่งผมก็เตือนแล้วว่า อย่าไปก็ไม่เชื่อ) จุดสำคัญที่นายกฯควรให้ความสำคัญและพิจารณาอย่างเร่งด่วนและรอบคอบด้วยตนเองก็คือ การที่ "น้ำท่วม" ที่อ.วารินชำราบ ผมอยากให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคิดเรื่องใหญ่ๆและเรื่องที่มีผลระยะยาว ไม่อยากเห็นนายกฯสักแต่ไปเยี่ยม ไปผูกผ้าขะม้า ไปโบกมือถ่ายรูป มันไม่ได้อะไร อ.วารินชำราบดั้งเดิมมีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) เดิมก็ไม่มีคนอยู่ แต่พอจ.อุบลราชธานีเจริญขึ้นผู้คนก็ย้ายออกมาจากเมืองมาอยู่บริเวณนี้มากขึ้นจนกลายเป็นเมือง(บาดาล) หน้าฝนทีไรก็จะจมน้ำ ชาวบ้านก็ยกบ้านให้สูงขึ้น แต่ก็ปรากฏว่า น้ำก็สูงขึ้นทุกปี บางจุดน้ำลึก 3-5 เมตร ซึ่งก็หมายความว่า พื้นที่นี้มันไม่ควรจะเป็นที่อยู่อาศัยต่อไปอีกแล้ว

ผมขอแนะนำว่า ถ้าไม่สามารถหาที่ใหม่ย้ายคนออกหรือทำเขื่อนเก็บน้ำ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องก็ไม่น่าจะทำได้ การแก้ไขระยะยาวคงต้องใช้ระบบ Polder แบบประเทศเนเธอร์แลนด์ คือทำเขื่อนดินด้านที่ติดกับแม่น้ำมูล โดยจะต้องเป็นเขื่อนที่มีสันค่อนข้างกว้าง อาจจะถึง 500 เมตรก็เป็นได้ ซึ่งจะทั้งแข็งแรงและมองกลมกลืนกับธรรมชาติ (ญี่ปุ่นตอนนี้ทำแบบนี้แล้ว) จากนั้นก็ติดตั้งปั๊มขนาดใหญ่ที่เพียงพอจะดูดน้ำออกให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ (ไม่ใช่ดูดจนแห้ง) โครงการที่พูดมาทั้งหมดนี้ ผมคิดว่า ไม่เกิน 2 ปีก็สร้างเสร็จ และใช้งบประมาณไม่ควรจะเกิน 5,000 ล้านบาท แล้วก็จะเป็นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนได้

 

ที่ผมให้ความห็นมาทั้งหมดนี้ ก็ด้วยความหวังดีและเป็นห่วงประชาชนซึ่งก็ยากจนอยู่แล้ว เพราะเจอทั้งโควิดมา 3 ปี แล้วยังมาเจอวิกฤติเศรษฐกิจจนเลวร้ายจนสตางค์แทบจะไม่มีเหลือติดบ้าน ซึ่งผมก็เฝ้าติดตามดูการทำงานของนายกฯและคณะอยู่ตลอด ก็ดูไม่เห็นมรรคผลอะไร แต่ผมก็ดีใจว่า ในแวดวงของพรรคเพื่อไทยเขาคิดเรื่องการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจริงจังมาก ดังเช่นตัวอย่างที่ผมได้เสนอความเห็นต่อท่านนายกประยุทธ์ในการเดินทางไปอุบลราชธานีในครั้งนี้ สุดท้ายขอเตือนว่า พายุยังไม่หมด และถ้าเกิดขึ้นใหม่ น่าจะลงที่ภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไป ซึ่งคราวนี้จะเป็นพายุที่มีลมแรงมากด้วย โดยขอให้ข้อสังเกตว่า ถ้าพายุลูกใดเกิดในทะเลจีนตอนใต้ (ไม่ใช่ตอนกลางมหาสมุทรแปซิฟิค) พายุลูกนั้นจะเป็นอันตรายเป็นที่สุด

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057