ข่าว

พาณิชย์ กำชับห้ามฉวยโอกาสช่วง "น้ำท่วม" ปรับขึ้น ราคาสินค้า

พาณิชย์ กำชับห้ามฉวยโอกาสช่วง "น้ำท่วม" ปรับขึ้น ราคาสินค้า

04 ต.ค. 2565

พาณิชย์ -เกษตร ประสานมือ ช่วยผู้ประสบอุทกภัยตรึง "ราคาสินค้า" ช่วงน้ำท่วม ไ่ม่ให้ขาดสต๊อก ระบายน้ำ ต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน

กระทรวงพาณิชย์ กำชับ กรมการค้าภายใน เร่งตรวจสอบสต๊อกสินค้า ทั้งร้านค้าปลีกและร้านค้าส่ง ห้ามมีการฉวยโอกาส ปรับเพิ่มราคาสินค้า โดยการอ้างสถานการณ์น้ำท่วม ซ้ำเติมผู้ประสบอุทกภัย และต้องสต๊อกสินค้า ให้มีปริมาณ เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในภาวะวิกฤติ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผุ้ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่ สอดรับกับกระทรวงเกษตรฯ กำชับกรมชลประทาน เร่งระบายน้ำ และต้องระมัดระวัง สร้างผลกระทบเกษตรกรให้น้อยที่สุด

จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์กำชับพาณิชย์จังหวัดทุกพื้นที่รวมทั้งกรมการค้าภายในโดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วม ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตาม ตรวจสอบศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศและให้ประสานห้างค้าปลีก-ค้าส่งสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหรือที่ได้รับความเสียหายเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนซ้ำจากปัญหาน้ำท่วม สะดวกต่อประชาชนผู้เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้วย

 

กรมการค้าภายใน ตรวจสอบราคาสินค้า

นอกจากนี้ยังได้กำชับทางสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์กำชับพาณิชย์จังหวัดทุกพื้นที่ให้ตรวจตราอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะห้ามให้เกิดการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าหรือค้ากำไรเกินควรซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายและจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนและตอนนี้ทุกฝ่ายต่างช่วยเหลือประชาชนเต็มที่ขณะที่ทางกระทรวงพาณิชย์ก็จะต้องให้ความตระหนักใส่ใจเข้าดูแลเต็มที่เช่นกัน คือทั้งห้ามของขาดและป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาเด็ดขาด

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสั่งการให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำ ระดมกำลังคนเครื่องจักรกลเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทุกจังหวัดโดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและท้องถิ่นเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด

 

สำหรับจังหวัดลุ่มเจ้าพระยา จังหวัดปริมณฑลและกรุงเทพมหานครได้เร่งผันน้ำลงทะเลโดยกรมชลประทานได้ระดมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่อย่างน้อย 220 เครื่องที่ติดตั้งตามสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำสูบน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตก สูบน้ำลงแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกงทางฝั่งตะวันออกและสูบลงอ่าวไทยทางทิศใต้ คิดเป็นปริมาณ วันละ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 525 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก

 

ส่วนการบริหารจัดการน้ำทั้งตอนเหนือและใต้เขื่อนเจ้าพระยาได้ผันน้ำทุกช่องทางทั้งฝั่งตะวันตก ฝั่งตะวันออกและฝั่งใต้รวมทั้งพื้นที่แก้มลิงลงทุ่งที่เตรียมไว้โดยให้มีผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกรน้อยที่สุด ให้ทุกโครงการชลประทานสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

 

ติดตามคมชัดลึกได้ที่

 

Line:https://lin.ee/qw9UHd2-

 

YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w