อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สมัคร สรรหา "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" เพียงรายเดียว
อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้สมัคร เข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการ "ศาลรัฐธรรมนูญ" เพียงรายเดียว รอกรรมการสรรหาเคาะส่ง วุฒิสภา
การสรรหา "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" แทนทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ในวันที่ 21 ตุลาคม 2565 นี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ระบุว่า หลังจากปิดรับสมัคร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มี อุดม รัฐอมฤต อายุ 63 ปี ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชุด มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้สมัครเพียงรายเดียว แต่ยังต้องผ่านด่าน ตรวจสอบประวัติ จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณา ของ 9 อรหันต์กรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอชื่อให้วุฒิสภาดำเนินการต่อไป
ขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะดำเนินการส่งรายชื่อผู้สมัครไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 รวมทั้งตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของผู้สมัคร แล้วรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าว พร้อมทั้งรายชื่อผู้สมัครรับการสรรหา แบบใบสมัคร รวมทั้งเอกสารและหลักฐานประกอบการสมัครต่อคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
สำหรับคณะกรรมการสรรหา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 200 มีจำนวน 9 คน ประกอบไปด้วย
(1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จํานวน3คน
(2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสงูสุด จํานวน2คน
(3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จํานวน1คน
(4) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จํานวน 1คน
(5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตําแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี จํานวน 2 คน
ในกรณีไม่อาจเลือกผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาตาม (1) ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกบุคคลจากผู้ซึ่งเคยดำรงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก็ได้
การนับระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นับถึงวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา แล้วแต่กรณี ในกรณีจําเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการสรรหาจะประกาศลดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองลงก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่า 2ปีมิได้
ติดตามคมชัดลึกได้ที่
YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w