ขอระบายน้ำ ลงเจ้าพระยา ผู้ว่าฯ กทม. กลัวน้ำท่วมอีก
เปิด 8 นโยบายระบายน้ำ ผู้ว่าฯชัชชาติ เน้นแต่วางระบบ และแก้ปัญหาระยะยาว หวั่น ระบายน้ำเหนือ ทำกรุงเทพฯตะวันออกจมบาดาล
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. บอกถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในกทม. ว่า กังวลเรื่องน้ำเหนือ ที่ระบายมา 2 ทาง ทั้งทางเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท มาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปล่อยมาทางแม่น้ำป่าสัก ก่อนทั้ง 2 ส่วนมารวมกัน จากข้อมูลเมื่อวานนี้ พบว่าน้ำที่ระบายรวมกันอยู่ที่ 3,100 ลบ.ม./วินาที หากถึง 3,500 ลบ.ม./วินาที ถือว่าอันตราย ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก็น้ำเต็มเขื่อนเกินความจุ ถึง 108 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวานปล่อยน้ำมา 800-900 ลบ.ม./วินาที
ชัชชาติ บอกว่า ในมุมของ กทม. อยากให้ระบายออกมาทางแม่น้ำเจ้าพระยาให้มากที่สุด เพราะถ้าระบายน้ำไปทางฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นคลองเล็ก ระบาย 200 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้น้ำเอ่อท่วม พื้นที่เขตหนองจอก มีนบุรี และลาดกระบัง แต่ถ้าจะเร่งระบายน้ำช่วงนี้ ดันออกมาทางแม่น้ำเจ้าพระยาจะดีกว่า หากระบาย 3,500-4,000 ลบ.ม./วินาที ยังพอรับได้
ขณะเดียวกัน กทม.ก็ต้องระวังเรื่องน้ำทะเลหนุนด้วย เดี๋ยววันนี้จะลงพื้นที่ตรวจจุดฟันหลอใน กทม. เพราะขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มลดลง แม้ช่วงนี้ความกดอากาศสูงจากประเทศจีน เริ่มแผ่ปกคลุมลงมา จะทำให้อากาศเริ่มเย็นขึ้น จะทำให้ร่องความกดอากาศที่ทำให้ฝนตกลดลง ฝนก็จะตกน้อยลงไปด้วย ถ้าสังเกตจะเห็นว่าลมแรงขึ้น ฝนก็จะไปเร็ว ทำให้ความกังวลเรื่องฝนลดลงก็ตาม
กว่า 4 เดือนที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แม้จะได้รับการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนท่วมท้น กว่าล้านคะแนน แต่การแก้ปัญหาน้ำท่วมยังตกอยู่ในสภาพ ที่คนกรุง ต้องเผชิญความยากลำบาก เมื่อฝนตกหนักในหลายพื้นที่ไปสำรวจกันว่า 8นโยบายระบายน้ำ ที่ผู้ว่าฯกทม. หาเสียงไว้ ทำอะไรไปแล้วบ้าง
ลดจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วมทันที
ลดผลกระทบจากน้ำท่วมขังในเส้นทางการสัญจรและการดำเนินชีวิตของประชาชน ระหว่างการก่อสร้างและแก้ไขปัญหาระยะยาว
ทบทวนศึกษา เตรียมแผนรับมือ และจัดสรรงบประมาณเร่งรัดให้ดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 9 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมในถนนสายหลักกว่า 48 จุด (ข้อมูลปี 2565)
ระยะสั้นลดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ทั้งการขุดลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสริมระบบระบายน้ำชั่วคราว ระหว่างปรับปรุง-ก่อสร้างระบบถาวรในระยะยาว
แก้ปัญหาพื้นที่ต่ำ 50 เขต
แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซากในย่านที่อยู่อาศัยและย่านพาณิชยกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าระดับน้ำทะเล บ้างก็เป็นพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัยเก่าที่สร้างมานานอยู่ต่ำกว่าระดับถนนสายหลักหรือรองที่ยกขึ้นสูง ทำให้ได้รับผลกระทบในช่วงฤดูมรสุมที่มีปริมาณค่าเฉลี่ยน้ำฝนสูงจากฝนตกหนักและรุนแรงเฉียบพลัน
กทม.จะดำเนินการในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน หรือถนน ตรอกซอกซอย ที่ประสบปัญหาพื้นที่ต่ำ แอ่งกระทะ ด้วยวิธีการยกระดับถนน หรือเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำ
ขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,000 กม.
แก้ปัญหาน้ำท่วมและบำรุงรักษาระบบระบายน้ำในระดับเส้นเลือดฝอย (ตรอกซอกซอย)เชื่อมโยงและยกระดับประสิทธิภาพโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำท่วมให้ทำงานได้ครบวงจร
เพิ่มการขุดลอกคลองรองรับฝนทันฤดู
คลองสายหลักและคลองเส้นเลือดฝอย (คลองสายรอง ลำกระโดง ลำราง) ที่กระจายตัวอยู่ทั้ง 50 เขต ได้รับการดูแลรักษาที่ดี
ระบบโครงข่ายการระบายน้ำของเมืองและทั้ง 50 เขต มีสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้จริง ไม่มีสิ่งกีดขวาง
มีพื้นที่รับน้ำธรรมชาติปริมาณมากขึ้น จากการดูแลรักษา เปิดทางน้ำไหล และขุดลอกอย่างจริงจัง
เพิ่มแก้มลิงธรรมชาติ พื้นที่รับน้ำกรุงเทพฯ
เร่งดำเนินการอย่างจริงจังในการจัดหาพื้นที่เอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างบึงและทะเลสาบ เช่น บึงฝรั่งและสวนสาธารณะ กทม. ให้เป็นพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ เพื่อรองรับน้ำฝนส่วนเกิน ช่วยหน่วงน้ำในช่วงฤดูมรสุมหรือฝนตกหนักเฉียบพลัน ตลอดจนทำหน้าที่สนับสนุนระบบระบายน้ำทั้งโครงข่ายให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รูปแบบการทำงานคือ เป็นจุดพักน้ำและผ่องถ่ายน้ำในแก้มลิงที่เก็บกักออกจากพื้นที่หลังจากฝนหยุดตก ลดเหตุการณ์น้ำท่วมขังหรือรอการระบายหลายชั่วโมงในเส้นทางสัญจรและพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน
ปรับปรุง ซ่อมแซม แก้ฟันฟลอคันกั้นน้ำ ริมแม่ ริมคลอง
ลดปัญหาจุดน้ำท่วมขัง จากสาเหตุระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนสูงและเอ่อล้นคันกั้นน้ำในจุดเขื่อนฟันหลอทั่วกรุงเทพฯ
เซ็นเซอร์สูบน้ำไม่ต้องรอขอกุญแจ
บริหารจัดการน้ำในระดับเส้นเลือดฝอยหรือรายพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เชื่อมต่อกับโครงการขนาดใหญ่ที่เปิดใช้แล้วหรืออยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำรอระบายในช่วงฤดูฝนลดน้อยลง
ทบทวนแผนก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ ความคุ้มค่าการลงทุและประสิทธิภาพแก้ปัญหาน้ำท่วม
การใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มุ่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำรอการระบายอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ
ย้อนดูนโยบายระบายน้ำ ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเพจ ชัชชาติดอทคอม พบว่าในนโยบายเกี่ยวกับการระบายน้ำ 8 หัวข้อ ไม่มีเรื่องการเผชิญเหตุ น้ำท่วมแบบฉับพลัน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ติดตามคมชัดลึกได้ที่
YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w