"ปชป." ถอดบทเรียน "กราดยิง" แนะฝึกวิชาป้องตัว วอนเสนอข่าวไม่กระทบสุขภาพจิต
"ประชาธิปัตย์" จัดเสวนา ถอดบทเรียน "กราดยิงหนองบัวลำภู" แนะฝึกทักษะป้องตัว ครูและผู้ดูแล ขณะที่ "มาดามเดียร์" ขอให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง สร้างความสะเทือนใจให้สังคมเกินไป
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. พรรคประชาธิปัตย์ มีการจัดเสวนาพิเศษเรื่อง "ถอดบทเรียนกราดยิงหนองบัวลำภู ... ร่วมหาทางออกด้วยกัน" โดยหยิบยกเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู ที่สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรค ประชาธิปัตย์ และในฐานะประธานการเสวนา เปิดเผยว่า ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สังคมไทยจะต้องร่วมมือร่วมใจหาวิธีการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในบ้านเมืองหรือในที่ใดในโลกนี้อีกต่อไป ดังนั้นพวกเราจึงขอเป็นส่วนเล็กๆ ของสังคม ที่จะได้ช่วยกันถอดบทเรียนเพื่อร่วมหาทางออกร่วมกัน
ด้าน พลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทยว่า ขณะนี้มีทั้งผู้เสพ ผู้ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวสูงกว่า 3 ล้านคน ทั้งที่ปัญหาอาชญากรรมกว่า 80% มีต้นเหตุจากยาเสพติด ถือเป็นการทำให้ประเทศสูญเสียทั้งบุคลากร และงบประมาณไปมากกว่าแสนล้านบาท
จึงอยากให้มีการถอดบทเรียน และวิเคราะห์เหตุการณ์ต่อไปแม้ผู้ก่อเหตุจะเสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนี้ขอให้ทุกหน่วยงานเปิดใจรับฟังผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อทราบปัญหาหรือลักษณะความเครียด และนำไปสู่การแก้ไขป้องกันอย่างจริงจัง
ขณะที่นางสาวศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาอาชญวิทยา มองเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านสามเหลี่ยมอาชญากรรมว่า
1. เหยื่อ เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ครู ที่ไม่มีทักษะการป้องกันตัว
2. โอกาสผู้ก่อเหตุ มีทักษะการใช้อาวุธ อีกทั้งมีอาวุธในครอบครอง และเคยเกี่ยวข้องกับสารเสพติด
3. สถานที่ เป็นศูนย์เด็กเล็ก ไม่มีการรักษาความปลอดภัย และกำลังอยู่ในช่วงพักผ่อน
ดังนั้นรัฐบาลหามาตรการทบทวน พร้อมกับเสนอให้มีการฝึกทักษะครูพี่เลี้ยง หรือผู้ดูแล ให้รู้จักแนวทางป้องกันเหตุอันตรายที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการหามาตรการควบคุมการออกแบบอาคาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัย มีช่องทางออกที่สังเกตได้ พร้อมกับเสนอทบทวนกฎหมายการถือครองอาวุธ และจำเป็นจะต้องมีการตรวจสุขภาพจิตของผู้ครอบครองอาวุธเป็นประจำด้วย
ด้านนางสาว วทันยา บุนนาค หรือ "มาดามเดียร์" พูดถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่สร้างความสะเทือนใจให้กับคนเป็นแม่ โดยหลังทราบเรื่อง ก็ได้รับเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนที่มีลูก พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "คิดถึงลูก" ที่ผ่านมานำเสนอที่มีลักษณะเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน นำเสนอเข้าข่ายเนื้อหารุนแรง เสมือนเป็นการหล่อหลอมให้สังคมอยู่กับความรุนแรงซ้ำๆ
ดังนั้นจึงอยากรณรงค์ให้ร่วมกันหาวิธีการลดทอนนำเสนอเรื่องราวที่มุ่งเน้นปัญหาดราม่าต่างๆ หรือนำเสนอมุมของความวิบัติในชีวิตคน โดยหวังผลเพื่อดึงความสนใจหรือเรียกยอดไลค์ แต่ให้กลับมาคิดถึงสิ่งที่สังคมควรได้รับประโยชน์จากการนำเสนอเนื้อหา ขณะที่ประชาชนเองไม่ควรเพิกเฉย หรือหวังเพียงแต่ให้หน่วยงานรัฐออกมาแก้ไขปัญหา เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งจะแก้ไขไม่ได้ ถ้าไม่เริ่มลงมือจริง เพียงแต่เราขยับสังคมก็จะเปลี่ยน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกัน ตั้งแต่การเลือกเสพสื่อ ร่วมกันใส่ใจคนรอบข้าง สร้างสถาบันครอบครัวให้แข็งแรง
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสพสื่อนอกจากเนื้อหาแล้ว ยังก่อให้เกิดสภาพอารมณ์ที่ตามมาด้วย ทั้งจากผู้ดำเนินรายการ จากความเห็นในรายการ คอมเม้นท์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้ควรจะต้องเสพเนื้อหาอย่างมีสติ ขอให้สังคมตระหนักรู้ว่าในอีก 10 ปี ปัญหาสุขภาพจิตจะยิ่งมีเพิ่มสูงขึ้น และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้นสังคมไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิด การไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นการเริ่มแก้ปัญหาจากจุดเล็กๆ ก่อนเป็นปัญหาใหญ่
ขอให้เรามีจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพจิต โดยเริ่มจากตัวเรา คนใกล้ชิด คนรอบข้าง คนในชุมชน ขยายออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้สังคมเราเต็มไปด้วยบุคคลที่สนใจด้านสุขภาพจิต และสร้างความสุขได้อย่างแท้จริง
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w