ข่าว

ระบบ - นโยบาย สองปีศาจร้าย แก้ "คอร์รัปชัน"  ยาก

ระบบ - นโยบาย สองปีศาจร้าย แก้ "คอร์รัปชัน" ยาก

12 ต.ค. 2565

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ชี้ สองช่องทางคอร์รัปชัน ผสานสอดรับกัน จนยากต่อการแก้ไข จับตาหากินกับ "นโยบาย" มาแรง

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)เขียนบทความ การแห้ปัญหาคอรัปชั่น หัวข้อ คอร์รัปชันเชิงระบบ - คอร์รัปชันเชิงนโยบาย คืออะไรมีเนื้อหาว่า

คอร์รัปชันเชิง"ระบบ" มักใช้ในสองความหมาย ความหมายแรกคือ การเอาช่องว่างของระบบไปใช้ในการโกง เช่น คอร์รัปชันในการจัดทำงบประมาณแผ่นดินของ ส.ส. คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างที่ปฏิบัติถูกระเบียบ เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย (Process) แต่มีการโกงกิน จึงเกิดผลลัพธ์ (Result) คือรัฐซื้อแพง ได้ของไม่ดี ไม่คุ้มค่า ความหมายที่สองคือ โดยตัวระบบเองส่งเสริมให้เกิดการโกง ที่กล่าวถึงกันมากคือ สถาบันตำรวจที่ใครเข้าไปมักหนีไม่พ้นวงวนส่วย สินบน การวิ่งเต้นเส้นสาย ซื้อขายตำแหน่ง หากใครไม่ยุ่งเกี่ยวก็อยู่ยาก โตไม่ได้

ภาพประกอบจากเฟสบุ๊ค มานะ นิมิตรมงคล

 

ในสภาวะเช่นนี้ จะไม่มีทางหยุดยั้งคอร์รัปชันได้เลย ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบ

ในความหมายแรก ยังพบได้ว่า มีหลายกรณีที่ผู้มีอำนาจเจตนาสร้าง"เงื่อนไข"โดยเปลี่ยนแปลงหรือขยายระบบเดิม ด้วยการออกนโยบาย กฎหมายหรือกฎระเบียบเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดช่องว่างหรือไปรองรับแผนการโกงให้ดูดีมีความชอบธรรม (Legalized) เช่น โครงการสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ โครงการบ้านเอื้ออาทร

คอร์รัปชันเชิงนโยบาย คืออะไร คอร์รัปชันที่เกิดจากบุคคลหรือคณะบุคคลได้อาศัยอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินระดับสูง ไปกำหนดนโยบายของรัฐหรือของหน่วยงาน เพื่อให้มีการลงทุนหรือดำเนินการไปตามกลโกงอันแยบยลที่พวกตนวางแผนไว้ โดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตนมิใช่เพื่อส่วนรวม

คดีที่โด่งดังเช่น คดีสนามฟุตซอล ส่วนที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น คดีคลองด่าน คดีโฮปเวลล์ จำนำข้าว ทุจริตยา คดีที่ดิน สปก. 4-01 คดีรถและเรือดับเพลิงของ กทม. ฯลฯ

มานะระบุอีกว่า  ช่วงนี้โอกาสเกิด "คอร์รัปชัน" เชิงระบบและคอร์รัปชันเชิงนโยบายเพิ่มมากขึ้นในการลงทุนในเมกะโปรเจค การกำหนดนโยบายเพื่อการเกษตรและการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องด้วยปัจจัยความเร่งด่วน และการสร้างความคลุมเครือในความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการของบุคคลและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก

อ่านบทความฉบับเต็มกดลิ้งค์ https://bit.ly/3eqtGmf