"จาตุรนต์" ชี้ มรดกรัฐประหาร เหตุ กสทช.หนุนควบรวม ย้ำ ทุนใหญ่หมายกุมทุกอย่าง
"จาตุรนต์ ฉายแสง" อดีตรองนายกฯ ชี้ มติ "กสทช."หนุนควบรวมกิจการโทรคมนาคม มรดกอิทธิพลระบอบเผด็จการ คสช.ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ ไม่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ย้ำทุนใหญ่หมายควบคุมทุกอย่าง ซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจยิ่งแย่หนัก
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2565 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อท่าทีของที่ประชุม กสทช.มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง รับทราบการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แบบมีเงื่อนไข โดยมีการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงต่อต้านคัดค้านขององค์กรประชาสังคม ที่กังวลถึงจุดมุ่งหมายการควบรวมเพื่อมุ่งเพิ่มอำนาจเหนือตลาดมากกว่าผลประโยชน์ของผู้บริโภคว่า
นายจาตุรนต์ เปิดเผยว่า การที่ กสทช.อนุญาตให้สองบริษัทยักษ์ใหญ่ควบรวมกันได้ครั้งนี้ จะเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคทุกคน และเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างร้ายแรง ด้วย การอนุญาตครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับหน้าที่ขององค์กรนี้ ซึ่งควรจะคอยดูแลให้เกิดการกระจาย และการแข่งขันในกิจการที่เกี่ยวกับคลื่นความถี่ แต่ กสทช.กลับสนับสนุนให้เกิดการผูกขาดเสียเอง
เมื่อสองบริษัทควบรวมเข้าด้วยกัน ก็ย่อมนำไปสู่การผูกขาดทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาด สามารถกำหนดราคาและกำไรโดยไม่ต้องแข่งขันเท่าเดิม ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายอื่นจะเสียเปรียบและรายใหม่จะไม่อาจเกิดขึ้นได้ จะกลายเป็นการผูกขาดอย่างถาวร เมื่อธุรกิจนี้เกี่ยวของโดยตรงต่อทุกภาคส่วนและประชาชนทุกคน ผู้ที่เดือดร้อนก็คือประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง
นอกจากนี้ เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมบางราย เป็นเจ้าของธุรกิจอื่นๆอีกมากมายแบบครบวงจร อย่างที่เรียกกันว่า"ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ" ตั้งแต่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดไปจนถึงค้าปลีกมากที่สุด ปัญหาที่จะตามมาก็คือมีความเป็นไปได้ ที่จะมีการใช้อำนาจผูกขาดทางสื่อ เป็นความได้เปรียบในการลดต้นทุนการโฆษณาให้กับกิจการของตนเอง ในขณะที่ผู้ค้ารายอื่นๆ ต้องเสียค่าโฆษณาที่แพงกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ สภาพเช่นนี้จะยิ่งทำให้การผูกขาดในระบบเศรษฐกิจของไทยยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
การที่ กสทช.สนับสนุนการผูกขาดไม่รักษาผลประโยชน์ของประชาชนในครั้งนี้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับลักษณะและบทบาทขององค์กร ที่ผิดเพี้ยนไปจนแตกต่างจากแนวความคิดดั้งเดิมในการจัดตั้งองค์กรมาจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ได้ระบุว่า คลื่นความถี่ถือเป็น ทรัพยากรสาธารณะ เป็นสมบัติที่ต้องจัดสรรเพื่อใช้ร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และกิจการเพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด
จากแนวความคิดนี้ ทำให้มีการยกเลิกการผูกขาดกิจการโทรศัพท์ และมีการส่งเสริมให้มีวิทยุชุมชนอย่างกว้างขวาง แต่ที่ยังทำไม่ได้คือการลดสถานีวิทยุของทหารมาแบ่งให้เอกชน หรือภาคประชาสังคม แต่ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารวิทยุชุมชนก็ถูกจำกัดลงไป
ส่วน กสทช.มีที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 50 ทำให้มีกฎหมายจัดตั้งองค์กรขึ้นมา แต่บทบาทก็เพี้ยนไป คือแทนที่จะดูแลการกระจายคลื่นความถี่ กลายมาเป็นคุณพ่อรู้ดีกำหนดว่าเนื้อหาอะไรเผยแพร่ได้หรือไม่ได้ และ กสทช.กลับมาเป็นผู้ผลิตสื่อเสียเองในรูปโครงการต่างๆ
แต่ที่ทำให้ลักษณะและบทบาทของ กสทช.เปลี่ยนไปมากที่สุดคือการรัฐประหารปี 2557 ที่คสช.เข้าครอบงำองค์กรนี้อย่างสมบูรณ์ ทั้งในการต่ออายุและการแต่งตั้งกรรมการ การออกคำสั่งที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน มาให้ กสทช.มีหน้าที่เป็นเครื่องมือปิดปากสื่อมวลชนและประชาชน ที่สำคัญ กสทช.ที่ถูกครอบงำโดย คสช.นี้ยังเป็นผู้ให้คุณให้โทษธุรกิจที่มีผลประโยชน์มหาศาล เช่น เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดการประมูล และการช่วยเหลือบริษัทที่ขาดทุนเป็นหมื่นๆล้านได้ตามอำเภอใจ ไม่นับว่า คสช.สามารถเอาเงินของ กสทช.ที่ควรใช้เป็นประโยชน์ในด้านสื่อไปใช้เป็นงบกลางก็ได้ด้วย
จนกระทั่ง การลงมติการควบรวมล่าสุดนี้ ได้แสดงถึงการไม่ปกป้องผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสร้างภาวะผูกขาดคู่ในตลาดโทรคมนาคม ตามความเห็นของกรรมการเสียงข้างน้อยท่านหนึ่ง การรวมธุรกิจมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40, 60, 61 และ 75 และขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ที่ต้องเพิ่มระดับการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม ทำให้ตลาดโทรคมนาคมตอนนี้ อยู่ในมือของผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่แห่ง และอาจปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมขึ้นได้
แม้เมื่อไม่มี คสช.แล้ว แต่การสรรหาและรับรอง กสทช.ก็ทำโดยวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ดังนั้น กสทช.จึงไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่เป็นองค์กรที่ถูกครอบงำอย่างต่อเนื่องของระบอบเผด็จการ ที่มาจากการรัฐประหารมาหลายปีแล้ว จึงไม่แปลกเลยที่ กสทช.จะสนับสนุนการผูกขาด ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน และลืมไปหมดแล้วว่าองค์กรนี้มีขึ้นมาเพื่ออะไรและมีไว้ทำไม