ข่าว

"รฟม." แจง ส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาท  รถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่มีอยู่จริง

"รฟม." แจง ส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่มีอยู่จริง

25 ต.ค. 2565

รฟม. ชี้แจง ส่วนต่างผลประโยชน์รัฐ 6.8 หมื่นล้านบาท "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" เป็นข้อเสนอของเอกชน ที่ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือก

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง การดำเนินการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ขอให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง มีการรายงานหรือทักท้วงกรณีพบข้อพิรุธการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

 มีเนื้อหาสำคัญว่าด้วยเรื่อง ผลประโยชน์ของรัฐที่เอกชนเสนอแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ตามที่มีการกล่าวอ้างโดยระบุว่า น่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับตัวเลขข้อเสนอที่เอกชนรายหนึ่งทำการเปิดเผยตัวเลขผลประโยชน์ของรัฐที่อ้างว่าเป็นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว

ข้อเสนอที่กล่าวอ้างจึงมิได้ผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์การประเมินที่ประกอบด้วยข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมถึงเงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ ตามลำดับ ประกอบกับเป็นซองข้อเสนอที่เปิดเป็นการภายในของเอกชนเอง ตัวเลขที่อ้างไม่สามารถยืนยันที่มาที่ไปได้ จึงไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้กับข้อเสนอที่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์กำหนด

 

เอกสารชี้แจงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

 

การคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ตามประกาศเชิญชวนฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และเอกชนที่ยื่นข้อเสนอฯ ทั้ง 2 ราย ได้รับคืนซองเอกสารข้อเสนอฯ แล้ว จึงไม่สามารถกลับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อีก

 

เอกสารชี้แจงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

 

กรณีคดีระหว่าง BTSC (ผู้ฟ้องคดี) กับ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ (ผู้ถูกฟ้องคดี) เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองระงับการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนฯ ตามประกาศเชิญชวนฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 โดย BTSC ได้กล่าวอ้างว่าการกำหนดเงื่อนไขทำให้พันธมิตร บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ ไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการ PPP

และตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ประกาศเชิญชวนฯ มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมการคัดเลือกมากขึ้น เกิดการแข่งขันมากกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ประกาศเชิญชวนฯ จึงไม่มีลักษณะตัดสิทธิหรือกีดกันผู้ร้องมิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่งผู้ร้องฯ สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกันกับเอกชนรายอื่น ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องฯ ดังกล่าว

ประกอบกับเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท30/2564 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (โจทก์) กับ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กับพวก (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) รวม 7 คน (จำเลย) โดยศาลอาญาฯ ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าจำเลยทั้ง 7 ได้ร่วมกันใช้ดุลพินิจแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามประกาศเชิญชวน ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 เพื่อประโยชน์ของรัฐตามข้อเท็จจริง  และตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 ประกาศคณะกรรมการ PPP โดยไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ หรือกระทำที่นอกขอบเขตแห่งกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยทั้ง 7 จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง ศาลอาญาฯ จึงพิพากษายกฟ้อง
 

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เรื่องกรณี 6.8 หมื่นล้าน ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในลักษณะพาดพิงและสื่อไปในทางกล่าวหาว่าเกิดการทุจริต คดโกงในการคัดเลือกเอกชนฯ

ซึ่ง รฟม. ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ชี้แจงกรณีแถลงการณ์ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ว่าการคัดเลือกเอกชนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนได้ส่งผู้สังเกตการณ์ 5 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนฯ ทุกขั้นตอน และไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รับแจ้งข้อสังเกตใดจากผู้สังเกตการณ์

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

 

 

ติดตามคมชัดลึกได้ที่

 

Line:https://lin.ee/qw9UHd2-

 

YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w