"ก้าวไกล" ดันกฎหมาย สุราก้าวหน้า ฝ่ากฎกระทรวง หวังผ่าน วาระ 2-3 ในสภา
พรรคก้าวไกล เปรียบเทียบ ข้อดีข้อเสีย ระหว่าง กฎกระทรวงเรื่องการผลิตสุรากับ ร่างกฎหมาย "สุราก้าวหน้า" หวังดันผ่านสภาให้ได้
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เท่าพิภพ ลิ้มจิตกร ส.ส.กรุงเทพมหานคร และผู้เสนอร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า พร้อมด้วย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล รับหนังสือจาก 3 องค์กรที่ร่วมสนับสนุนพ.ร.บ. ดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มประชาชนเบียร์ สมาคมคราฟต์เบียร์ สมาคมสุราชุมชนไทย
พิธา กล่าวว่า ความแตกต่างของพ.ร.บ.สุราก้าวหน้ากับกฎกระทรวง คือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าเน้นการปลดล็อก ลดการเอาเปรียบของผู้ผลิตเจ้าใหญ่ แต่กฎกระทรวงกลับเป็นการเปลี่ยนล็อกหนึ่งมาไว้ล็อกหนึ่ง ซึ่งประกาศก่อนที่ พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า จะเข้าสภาในวาระ 2 เพียงหนึ่งวันเท่านั้น คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นเรื่องการเมืองที่ต้องการคว่ำร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า
พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าภาคประชาชนได้ศึกษากันมานานกว่า6 ปี ขณะที่กฎกระทรวงของราชการอาจจะตามไม่ทันศักยภาพของผู้ประกอบการ
ส่วนเรื่องสุราสี ที่ถูกเขียนไว้ว่าต้องผลิต 30,000 ลิตร อย่างไรก็ตามประชาชนไม่สามารถผลิตได้แน่นอนตอกย้ำชัดเจนว่าเป็นการเอื้อนายทุน หากปลดล็อกเงื่อนไขนี้ได้ ถึงจะเรียกว่าปลดล็อกที่แท้จริง
ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลยืนยันจะทำหน้าที่ผลักดันพ.ร.บ.สุราก้าวหน้าให้ถึงที่สุดและหวังว่าตัวแทนของประชาชนพรรคอื่นๆจะโหวตเพื่อประโยชน์ของประชาชนเช่นกัน
กฎกระทรวงการผลิตสุรา 2565 ที่รัฐบาลเพิ่งออกมาไม่ใช่การ ปลดล็อก ธุรกิจสุรา แต่คือการ เปลี่ยนล็อก ให้ดูเหมือนลดข้อจำกัด แต่ในความเป็นจริงยังมีอุปสรรคที่เรามองไม่เห็น เช่น
- การต้องขอใบอนุญาต
- การจำกัดรูปแบบวิธีการผลิต
- การกำหนดให้ต้องทำ EIA ซึ่งต้นทุนสูงนับล้านบาท
- การผลิตสุราชนิดพิเศษไม่ว่าจะเป็น วิสกี้ ยิน บรั่นดี เหล้าขาว ยังคงมีเกณฑ์กำลังการผลิตขั้นต่ำวันละนับหมื่นลิตร ที่กีดกันผู้ผลิตรายย่อยเช่นเดิม
กฎกระทรวงใหม่ฉบับนี้จึงไม่ใช่การนำธุรกิจสุราให้ออกจากมือนายทุน แต่เป็นแค่การตบตาให้ดูเหมือนว่าปลดล็อกให้ทำธุรกิจง่ายขึ้นแล้ว แต่ความจริงรายย่อยก็ยังผลิตสุราได้ยากอยู่เช่นเดิม
ติดตามคมชัดลึกได้ที่
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w