ข่าว

รัฐบาล เตรียม ยกเลิกกฎหมาย "เช็คเด้ง" รับผิดเป็นคดี "ทางแพ่ง"แทน "อาญา"

รัฐบาล เตรียม ยกเลิกกฎหมาย "เช็คเด้ง" รับผิดเป็นคดี "ทางแพ่ง"แทน "อาญา"

03 พ.ย. 2565

รัฐบาล เตรียมนำเข้าที่ประชุมสภา เป็นวาระเร่งด่วน หลังรับทราบ ให้เสนอร่างยกเลิกกฎหมาย "เช็คเด้ง" รับผิดเป็นคดี "ทางแพ่ง"แทน "อาญา"

ความคืบหน้าการปรับปรุง พ.ร.บ.ว่า ด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 พ.ศ. ... หรือ เช็คเด้ง ที่ก่อนหน้านี้ประกาศให้ผู้ที่กระทำความผิดต้องถูกลงโทษในคดีอาญานั้น 


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร วันจันทร์ ที่ 31 ต.ค. 65 ซึ่งให้เสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมาดังกล่าว ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จะยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ทำให้เมื่อมีกรณี ลูกหนี้ สั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเจตนาทุจริต แต่เช็คไม่สามารถขึ้นเงินได้ เพราะเงินในบัญชีของลูกหนี้ไม่เพียงพอ หรือที่เรียกว่า เช็คเด้ง จะเหลือเพียงมูลความผิดที่ฟ้องร้องกันทางแพ่ง ไม่มีโทษทางอาญาที่ต้องถูกปรับหรือจำคุกอีกต่อไป

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534  หากเกิดกรณี "เช็คเด้ง" ไม่ว่าจะมีเจตนาทุจริตหรือไม่ ลูกหนี้ต้องมีโทษทางอาญาถูกปรับหรือจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ เสมือนลูกหนี้ต้องเอาเสรีภาพของตนเองเป็นประกันว่าเช็คจะไม่เด้ง ทั้งที่ความเป็นจริงการที่เงินในบัญชีไม่พอจ่ายเจ้าหนี้ควรฟ้องร้องทางแพ่ง เรียกเงินตามเช็คเท่านั้น แต่เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้อยู่ ทำให้ทางปฏิบัติเจ้าหนี้มักเลือกฟ้องเป็นคดีอาญาเพื่อข่มขู่ลูกหนี้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงินเปลี่ยนไปมาก มีการใช้ทั้งบัตรเครดิต เดบิต การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาแทนที่การใช้เช็ค หากยังคงกฎหมายนี้ไว้อาจจะเป็นการใช้โทษอาญาในทางที่ไม่เหมาะสม รัฐบาลจึงเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ให้การจัดการหนี้สินระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อยู่ภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม และยังเป็นการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดหลักการให้พึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่กำหนดว่า บุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้

 

ทั้งนี้เมื่อกฎหมายยกเลิกแล้ว และมีผลบังคับ ผู้ที่ต้องโทษอยู่จะได้รับการปล่อยตัวทันที หรือหากศาลพิจารณาคดีอยู่ก็จะจำหน่ายคดีส่วนอาญาออกไป และต่อไปนี้เจ้าหนี้จะไม่สามารถฟ้องทางอาญาเพื่อบีบคั้นลูกหนี้ไม่ได้อีกต่อไป
 

"แม้จะยกเลิกกฎหมายฉบับนี้แล้ว แต่ก็ยังมีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาลงโทษลูกหนี้ที่สั่งจ่ายเช็คเด้งโดยมีเจตนาทุจริต อยู่ในส่วนความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" น.ส.ไตรศุลี กล่าว 

 

ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่

Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek\

LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057