"รัฐบาล" โต้กลับ "ฝ่ายค้าน" ปฏิเสธออกกฎหมาย "ขายชาติ"
"รัฐบาล" โต้กลับ "ฝ่ายค้าน" 9 ประเด็น ปฏิเสธออกกฎหมาย "ขายชาติ" ชี้มีกฎห้ามกว้านซื้อ ทุกตารางนิ้วที่ถือครองไม่ใช่การเสียอธิปไตยของชาติ
หลังจากคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. มีมติ เห็นชอบร่าง "การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว" เพื่อกระตุ้นการลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศ จนเกิดวาทะ "ขายชาติ" ซึ่งฝ่ายค้าน ได้ตั้งคำถาม ว่า จนมุมทางเศรษฐกิจหรือไม่
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องจนมุมทางเศรษฐกิจ มีหลายมาตรการดึงดูดนักลงทุนด้านอื่นๆของรัฐบาล ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่กลับมีงบลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลไม่ได้จนมุมแต่อย่างใด
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ มีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดนักลงทุนรายบุคคล ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการควบคุมและคัดกรองให้รัดกุมขึ้น ดังนี้
1.อนุญาตให้เฉพาะคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม คือกลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ที่ได้รับสิทธิวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวใหม่ (Long-term resident visa : LTR) เท่านั้น
2. การซื้อขายไม่เปิดช่องให้นอมินีสามารถกว้านซื้อที่ดินได้ เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ขั้นที่1 ที่กำหนดคุณสมบัติคนต่างด้าว 4กลุ่ม ข้างต้นแล้วยังกำหนดให้ต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ในธุรกิจหรือกิจการตามที่ร่างกฎกระทรวง กำหนด และต้องคงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยให้นับมูลค่าการลงทุน ณ วันที่ยื่นคำขอ หากถอนการลงทุนก่อนครบกำหนด 3 ปี ก็จะถูกระงับสิทธิ และสามารถออกเงื่อนไขในการป้องกันนอมินีเพิ่มเติมได้
3. ไม่สามารถถือครองขยายพื้นที่ได้ มากกว่า 1 ไร่ ต่อ1คน ดูสิทธิการซื้อครบ 1 ไร่ ไม่มีสิทธิซื้ออีกถึงแม้จะขายออกไปแล้ว
4. การซื้อที่ดิน กำหนดบริเวณชัดเจน ไม่ใช่ซื้อที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย แต่ต้องเป็นพื้นที่ในเขตเมืองที่ราคาสูง อยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ไม่ใช่อนุญาตให้ซื้อพื้นที่เกษตรกรรม
5. การซื้อขายเป็นระหว่างพื้นที่เอกชนกับเอกชนตกลงกันเอง และเป็นราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มเอง ไม่ใช่ ลงทุน 40 ล้านแล้วได้ที่ 1 ไร่
6. แต่หากตกลงซื้อขายที่ดินแล้วตามขั้นตอน นอกจากยื่นเรื่องต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว ยังกำหนดให้ยื่นเรื่องต่อ อธิบดีกรมที่ดิน เพื่อตรวจสอบเงื่อนไขทั้งหมดก่อน เช่นพบว่า เป็นนอมินี หรือ มีการกว้านซื้อบริเวณใกล้เคียง ก็นำไปสู่การตรวจสอบเพิ่ม และสุดท้ายเมื่อถูกต้อง ถึงจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเป็นรายกรณีไป ไม่ใช่ซื้อได้ในทันที
7. รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้จัดหาที่ดินให้รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้จัดหาที่ดินให้ เพียงออกกฎหมายรองรับ และสิทธิอำนาจในการพิจารณาเงื่อนไขการอยู่ในแผ่นดินไทย ยังเป็นของรัฐบาลไทย
8. การใช้ชีวิตของต่างชาติในไทย ต้องดำรงเงื่อนไขก่อนซื้อ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ไม่มีเอกสิทธิ์เหนือแผ่นดินไทย
9. ทุกตารางนิ้วที่ต่างชาติมีที่พักอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ยังต้องเคารพกฎหมายไทย จึงไม่ใช่การเสียอธิปไตยของชาติ
น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า รัฐบาลน้อมรับข้อห่วงใยของทุกฝ่าย ที่มีเจตนาป้องกันไม่ให้เกิดช่องโหว่ในการแสวงหาผลประโยชน์อื่นใด ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีการปรับปรุงแก้ไขได้อยู่