“มาดามเดียร์” แนะ “กสทช.” -หลังจบบอลโลก ควรทบทวนกฎ “Must have-Must carry “
พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนา “ ดูบอลโลกในไทย ทำไมเป็นแบบนี้” ด้าน “มาดามเดียร์” แนะ “กสทช. “ หลังจบบอลโลก ควรทบทวนกฎ” Must have-Must carry “ ด้าน “ไพศาล” ชี้ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของเอกชน
วันนี้ (20 พ.ย.2565) พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนา “ ดูบอลโลกในไทย ทำไมเป็นแบบนี้” นำโดย นางสาววทันยา บุนนาค หรือ "มาดามเดียร์" นายเขมทัตต์ พลเดช อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. อสมท. นายอภิมุข ฉันทวานิช อดีต ส.ก.ปชป. และ อ.ไพศาล ลิ้มสถิตย์กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวเปิดงาน
บรรยากาศภายในงาน ก็เป็นไปอย่างคึกคัก อัดแน่นไปด้วยข้อมูลจากนักการเมือง และนักวิชาการ สำหรับมุมมองในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการทำงานของ กสทช .
อ.ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่สำหรับเรื่องฟุตบอลโลก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากที่สุด น่าจะเป็น "การกีฬาแห่งประเทศไทย" ส่วนบทบาทหน้าที่ของ “กสทช.” ก็คงเป็นหน่วยงานที่จะกำกับดูแลในเรื่องการกระจายเสียงโทรคมนาคม ไม่ได้มีบทบาทในเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์ การอนุมัติจ่ายเงินของ USO เพื่อให้ได้รับลิขสิทธิ์ “ฟุตบอลโลก” แต่อย่างใด เป็นมติที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน ซึ่งกองทุนมีเงินเพียง 2,000 ล้านเท่านั้น ควรโยกเงินกองทุนการกีฬาแห่งชาติ มาจ่ายค่า “ลิขสิทธิ์” แทน ควรเป็นเรื่องของเอกชนเนื่องจากมีเงินทุนและนำมาต่อยอดธุรกิจได้
ด้าน นายเขมทัตต์ กล่าวว่า กฎหมายใบอนุญาตที่แพงที่สุดคือเรื่องกีฬา เมื่อฐานคนดูเพิ่มขึ้นราคาใบอนุญาตจะเพิ่มสูงตาม สิ่งใดที่เป็นคอนเท้นต์และมีราคาควรมีการพูดคุยกันตั้งแต่แรก
ขณะที่ นางสาววทันยา บุนนาค หรือ "มาดามเดียร์" กล่าวว่า เงินในส่วนนี้อาจไม่ใช่ภาษีของประชาชนโดยตรง แต่เป็นเงินที่ให้เอกชนไปประมูลคลื่นความถี่ เป็นทรัพย์สินสาธารณะสมบัติของประเทศ นั่นหมายถึงเป็นของประชาชนคนไทยทุกคน อย่างที่สองคือเงินกองทุนพัฒนา "การกีฬาแห่งประเทศไทย" เป็นเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
เหตุผลที่ผ่านมา เหตุใดประเทศไทยจึงไม่เคยมีปัญหาในเรื่องนี้เนื่องจากผู้ประกอบการโทรทัศน์สมัยที่ยังไม่มีทีวีดิจิทัล ได้นำเงินรวมกันและซื้อลิขสิทธิ์ "ฟุตบอลโลก" จากนั้นหารายได้จากสปอนเซอร์เข้ามาอุดหนุน ตนคิดว่าเรื่องทั้งหมดนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นถ้าไม่มีปัญหาเรื่องกฎ "Must have - Must Carry " ที่ทางกสทช.พยายามออกกฎมาเมื่อมีทีวีทิจิทัล แต่เมื่อกฎที่ออกขณะนั้น ทำให้ตอนนี้เปรียบเสมือน "เขวี้ยงงูไม่พ้นคอ" เพราะ "กสทช." บิดเบือนกลไกตลาด
“หลังจากเรื่องนี้ “ กสทช.” ต้องไม่ลืมเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน และนำมาหารือใหม่ในเรื่องของกฎ Must have-Must carry ว่ายังคงเหมาะสมที่จะใช้ต่อไปหรือไม่” มาดามเดียร์ กล่าว