ก้าวไกล จี้ กทม.จ่ายหนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว'
พรรคก้าวไกล ชี้ กทม.เป็นหนี้ต้องชำระให้ ฺ'BTS' แต่ต้องโปร่งใส ไม่เอาเงื่อนไข ขยายสัญญาสัมปทานเข้าไปเป็นเงื่อนไขด้วย
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ทำการสื่อสารคลิปวิดิโอทวงถามหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า
4 หมื่นล้านบาท ว่าต้องรีบใช้อย่าให้เป็นเงื่อนไขขยายสัมปทาน แต่ต้องมีความโปร่งใส เปิดเผยสัญญา
ให้รู้ยอดหนี้จริง ลำดับแรกต้องตอบให้ชัดว่าจะเอาอย่างไรกับการขยายสัมปทานออกไปอีก 30 ปี
ว่าจะเอาหรือไม่เอา
สุรเชษฐ์ระบุว่าพรรคก้าวไกลเคยแสดงความเห็นอย่างละเอียดไปแล้วว่าไม่ควรขยายสัมปทานและควรเริ่มต้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบได้เสียที แก้ปัญหาตั๋วร่วมและค่าโดยสารร่วมอย่างจริงจังหรืออย่างน้อยหากจะปะผุปัญหาต่อไปอีก 30 ปีก็ต้องโปร่งใส ชี้แจงตัวเลข กระแสเงินสดให้ได้ว่าทุนใหญ่ไม่เอากำไรเกินควรและเปิดเผยสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคมกับ BTS และหากรัฐบาลและ กทม. ชัดเจนว่าไม่ขยายสัมปทานไปอีก 30 ปี ก็ควรจ่ายหนี้ไม่ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง เพราะ กทม. บอกว่าพร้อมจ่าย อย่างน้อยก็ในส่วนของส่วนต่อขยายหนึ่ง
สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ติดหนี้ ต้องจ่าย แต่ต้องตรวจสอบด้วยว่ายอดถูกต้องหรือไม่ สัญญาส่วนต่อขยายที่แอบไปทำกันถึงปี 85 ชอบธรรมหรือไม่ ต้องเอามาเปิดเผยต่อสาธารณะและตัดสินเสียทีว่าเป็นการหลีกเลี่ยง พรบ.ร่วมทุน หรือเปล่า นี่ยังไม่นับรวมการขอขยายสัมปทานไปอีก 30 ปีด้วย ม.44 โดย ทหารการเมือง และเงินที่หายไปจากการเบี้ยวหนี้โดยอดีตผู้ว่าฯ ควรเร่งแก้ปัญหา ไม่ควรปล่อยให้คาราคาซังเพราะหนี้จะยิ่งพอกพูน
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กทม.ชี้แจงว่า ในช่วงปี 2562 คชส. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมเพื่อเจรณาขยายสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยใช้เวลาในการพิจารณา 60 วัน และได้ตัวร่างสัญญาขึ้นมา โดยมีประเด็นค่าจ้างเดิน หากมีการต่อสัญญาสัมปทานค่าจ้างเดินรถทั้งจะต้องถูกโอนไปอยู่ในสัญญาสัมปทานใหม่ ดังนั้น กทม. จึงยังไม่ได้พิจารณาจ่ายเงินค่าเดินรถให้แก่บริษัทเอกชน เนื่องจากยังรอมติ ครม. อยู่ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
หาก ครม.เห็นชอบต่อสัญญาสัมปทาน ค่าจ้างเดินรถทั้งหมดจะต้องถูกโอนเข้าไปอยู่ในสัญญาสัมปทานฉบับใหม่ แต่ หากครม. ไม่เห็นชอบ ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 จำนวน 10,000 กว่าล้าน สามารถทำได้เลย เพราะสัญญามีความสมบูรณ์แล้ว แต่จะต้องรอมติจาก ครม. ให้ชัดเจนก่อน แต่ส่วนต่อขยายส่วน 2 ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภากทม.