'เลือกตั้งบัตร2ใบ' ไม่ทำเป้าหมายแลนด์สไลด์ เป็นจริง
'มติศาลรัฐธรรมนูญ' เลือกตั้งบัตร 2 ใบ ในปีหน้า ไม่ได้การันตีว่าจะมีพรรคการเมืองใด ชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์
ขั้นตอนหลัง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องแจ้งผลคำวินิจฉัยไปยังประธานรัฐสภา เพื่อส่งร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ให้ นายกรัฐมนตรี ดำเนินการขั้นตอนทูลเกล้าฯ โดยก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องพักรอไว้ 5 วัน เผื่อสมาชิกรัฐสภา หรือ นายกฯ เห็นว่า ร่างกฎหมายนั้นมีข้อความขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งให้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยได้ อีก
มติศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความชัดเจนว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการเลือกตั้งบัตร 2ใบ บัญชีรายชื่อหารร้อยเหมือนปี40 ข้อดีของการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจเลือกได้ง่าย ตามสโลแกน เลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ แบ่งแต้มกันไปได้สองพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้ง และไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเสียเปรียบเสมอไป หากพรรคการเมืองนั้นคัดผู้สมัครฯประเภทนอนมาในแต่ละพื้นที่ ก็ย่อมการันตีจำนวนเก้าอี้ในสภาได้ และนี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญของการเฟ้นหาตัวผู้สมัครฯ ของพรรคการเมืองใหม่หากต้องการเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องมีส.ส.อย่างน้อย ในสภาอย่างน้อย 25 คน
แต่ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือพรรคการเมืองใหม่จะหวังชนะได้เฉพาะส.ส.แบบแบ่งเขตเท่านั้น เพราะหากยังจำกันได้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 พรรครักประเทศไทย ของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ เคยสร้างปรากฏการณ์ ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แบบเดียว เพียง 10 ลำดับ แต่กลับได้รับเลือกเข้าสภาถึง 4 คน ผลมาจากการเสนอนโยบาย ที่โดนใจผู้คน
ในทางตรงกันข้าม พรรคขนาดใหญ่ที่ตั้งเป้าแลนด์สไลด์ จากการเลือกตั้งแบบบัตร2ใบ ก็มีตัวเลือกมาแรงฝั่งประชาธิปไตย ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคการเมืองใหม่ของคุณหญิงสุดารัตน์ ล้วนเป็นปัจจัยที่เห็นได้ชัดว่าเป้าหมายพรรคเดียว 280 ที่นั่ง อาจไปไม่ถึงฝั่งฝัน ประเภทเขตเลือกตั้งเดียวกัน จะชนะทั้งสองระบบคงจะลำบาก เป้าหมายแลนด์สไลด์อาจเป็นไปได้ยากกว่าที่คิดไว้