ข่าว

เงื่อนงำประมูล 'สายสีส้ม' ยังไม่เคลียร์ ก้าวไกล จี้ถามรัฐมนตรีเรียงตัว

เงื่อนงำประมูล 'สายสีส้ม' ยังไม่เคลียร์ ก้าวไกล จี้ถามรัฐมนตรีเรียงตัว

01 ธ.ค. 2565

ก้าวไกลยังไม่ให้ผ่าน พิรุธประมูล 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' ส่วนต่างเกือบเจ็ดหมื่นล้าน ส่ง 7 คำถามคาใจ ให้รัฐมนตรีช่วยตอบ

 

สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในคณะกรรมการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ส่งจดหมายถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นรายบุคคล เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการประมูลโครงการและเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

 

คณะอนุกรรมการฯ ได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับกรณีโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ข้อชี้แจงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งเข้าร่วมการประมูลครั้งแรกและข้อชี้แจงของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จึงมีความกังวลอย่างยิ่งว่าผลการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสีส้มอาจทำให้รัฐเสียหายเกินกว่าที่ควรจะเป็น

 

ยื่นหนังสือสอบถามโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

 

ทั้งนี้ ยังได้พบข้อพิรุธอันอาจส่อถึงการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้งบประมาณของรัฐเข้าไปอุดหนุนโครงการแบบมากเกินจำเป็นถึง 68,613 ล้านบาท ดังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่ออย่างกว้างขวาง พร้อมได้ทำหนังสือสรุปประเด็นต่างๆ ส่งถึงคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ดังต่อไปนี้


 

 

1) การเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลกลางอากาศ แบบส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการแพ้ชนะการประมูล

2) การยกเลิกการประมูลครั้งก่อน โดยที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่าการยกเลิกการประมูลดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย

3) การกีดกันการแข่งขัน โดยไม่ให้ BTS มีสิทธิเข้าประมูลรอบใหม่ ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือ ประเทศไทยมีผู้ประกอบการเดินรถรายใหญ่เพียง 2 เจ้า คือ BTS และ BEM

4) คุณสมบัติต้องห้ามของผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ กรณีคณะกรรมการคัดเลือกปล่อยให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ผ่านมาเป็นคู่เทียบ ทั้งที่ติดปัญหาด้านคุณสมบัติอยู่

5) การคิดราคากลาง 91,983 ล้านบาท แบบอุปโลกน์ ว่าส่วนแบ่งรายได้ในอนาคตเป็นศูนย์ แล้วค่อยมาตัดสินกันด้วยการแข่งขันซึ่งไม่มีอยู่จริง

6) ความพยายามของคณะกรรมการคัดเลือกในการรักษาผลประโยชน์ให้กับรัฐ ในการเจรจาต่อรอง

7) ส่วนต่าง 68,613 ล้านบาท นั้นมีอยู่จริง ต้องไปพิสูจน์ให้ทราบว่าทำไมการประมูลรอบแรก หาก BTS ชนะ รัฐจะอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาท แต่ในการประมูลรอบสองซึ่ง BEM ชนะ รัฐต้องอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท ทั้งที่ในทางเทคนิกคือสร้างสิ่งเดียวกัน คือรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบบการก่อสร้างก็ไม่ได้เปลี่ยน ความยาวเท่าเดิม และจำนวนสถานีเหมือนเดิม