ข่าว

9 ปี ข้าวอิ่ม มหาสารคาม  ช่วยชาวนาปลดหนี้ทั้งหมู่บ้าน

9 ปี ข้าวอิ่ม มหาสารคาม ช่วยชาวนาปลดหนี้ทั้งหมู่บ้าน

05 ธ.ค. 2565

9 ปี ข้าวอิ่ม มหาสารคาม “กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า” จุดประกายความคิด ช่วยชาวนาปลดหนี้ทั้งหมู่บ้าน

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวภายหลัง ลงพื้นที่เกี่ยวข้าวร่วมกับชาวนาบ้านหนองหิน จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นแปลงนาที่นายกรณ์ ได้ริเริ่มโครงการ “ข้าวอิ่ม” เมื่อ 9 ปีที่แล้ว 

 

9 ปี ข้าวอิ่ม มหาสารคาม  ช่วยชาวนาปลดหนี้ทั้งหมู่บ้าน

โดยนายกรณ์ กล่าวว่า “ข้าวอิ่ม” ซึ่งตนได้ริเริ่มตั้งแต่ปี 2556 ที่ หมู่บ้านหนองหิน จ.มหาสารคาม ด้วยการเปลี่ยนข้าวที่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก มาเป็นข้าวเกษตรอินทรีย์ จนได้รางวัลพันธุ์ข้าวยอดเยี่ยมระดับประเทศ

เกิดการต่อยอดข้าวเป็นสินค้าพรีเมียมประจำจังหวัด ด้วยรสชาติของข้าวมหาสารคามที่อร่อยที่สุดในโลก และกำลังขยายผลเพิ่มมูลค่าสินค้าอีกหลายชนิด ทั้งข้าวพองธัญพืช รสชาติอร่อยมาก

9 ปี ข้าวอิ่ม มหาสารคาม  ช่วยชาวนาปลดหนี้ทั้งหมู่บ้าน

 รวมไปถึงเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิว สบู่ ฯลฯ ช่วยให้เกษตรกรปลดหนี้ มีเงินเก็บ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายกรณ์ กล่าวว่า ดีใจมากที่ปีนี้ ข้าวอิ่ม ได้รับรางวัล ข้าวคุณภาพอันดับที่ 3 ของประเทศ ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดา จากหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่รวมตัวกันด้วยความกล้าหาญ เปลี่ยนวิถีการปลูกข้าว เริ่มต้นจาก 7 ครัว เรือนปัจจุบันเพิ่มเป็น 171 ครัวเรือน ในพื้นที่นา 1,783 ไร่ 

 

 

ทำให้เห็นถึงความตั้งใจ และอดทน จนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ และได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลผลิต ทั้งรถเกี่ยวข้าว โรงสีชุมชน เครื่องบรรจุสุญญากาศ ฯลฯ 

 

นับเป็นโอกาสที่ดีที่เกษตรกรจะได้ยกระดับมาตรฐานสินค้าให้น่าซื้อ มากยิ่งขึ้น

 

9 ปี ข้าวอิ่ม มหาสารคาม  ช่วยชาวนาปลดหนี้ทั้งหมู่บ้าน

นายกรณ์ เล่าถึงที่มาของโครงการข้าวอิ่ม ว่า เกิดจากที่ตนได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เคยรับสั่ง กับ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ เมื่อปี 2524 หรือราว 30 ปีที่แล้ว พระองค์ทรงให้ข้อคิดว่า ข้าวแทนที่จะขายเป็นถุงหรือเป็นกระสอบ ความจริงน่าจะนำมาทำแพกเกจจิ้ง ทำเรื่องการตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นได้ ขณะที่ช่วงเวลานั้นยังไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้  

 

 

“หลังจากที่ได้อ่าน เลยตัดสินใจลงมือปฏิบัติตาม แม้จะช้าไปถึงเกือบ 30 แต่ก็ได้พยายามทำตามแนวพระราชดำรัสด้วยการทำ “ข้าวอิ่ม” กับชาวบ้านในจังหวัดมหาสารคามเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เพราะเห็นว่าราคาข้าวตกตํ่ามาก

 

 จึงชักชวนให้ชาวนาขายข้าวถุงโดยตรงผู้บริโภค แทนที่จะขายข้าวเปลือกให้กับโรงสี ด้วยสมมติฐานว่าจะเป็นการตัดขั้นตอนเพื่อให้ชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น” นายกรณ์ กล่าว

 

 

หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวต่อว่า ตอนนั้นตนบอกกับชาวนาว่า สามารถให้ราคาได้ 20,000 – 25,000 บาท แต้ต้องอยู่บนเงื่อนไขสำคัญคือ 1. คุณภาพสินค้าต้องดี เพราะผู้บริโภคมีสินค้าให้เลือกเยอะ 2. ทุนหมุนเวียนต้องมี เพราะการขายปลีกหมายถึงรายได้จะค่อยๆ เข้ามาตามที่ขายได้ ต่างกับการเหมาขายให้โรงสีที่จะมีเงินเข้ามาเป็นเงินก้อนทันที และ 3. ต้องเข้าถึงตลาดได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด 

 

ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อนี้ ไม่ง่าย และมีประเด็นที่ท้าทายมากมาย เช่น 1.ชาวนาต้องรวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพและพร้อมที่จะเสี่ยง 2. การขายข้าวให้ได้ราคาต้องเป็นข้าวมีคุณภาพ ทั้งพันธุ์ข้าวและวิธีการปลูกที่ควรปลอดการใช้สารเคมี การโน้มน้าวให้ชาวนาเปลี่ยนกรรมวิธีการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ 3. เรื่องทุนสำคัญมาก เพราะชาวนารายเล็กจะยากจน เขารอรับเงินไม่ได้ และพร้อมขายเหมาถูกๆ เพื่อแลกกับการได้เงินเร็ว  

 

4. เราขาย “ข้าวอิ่ม” ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ชาวนาทุกคนมีช่องทางแบบนี้ 

 

 

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า ซึ่งก็ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะสุดท้ายชาวบ้านก็สามารถรวมตัวกันได้ เพียง 7 ครัวเรือน แต่สิ่งที่ชาวนา จ.มหาสารคามได้เปรียบคือ คุณภาพข้าวในพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งกุลา ถือเป็นข้าวเกรดเอของไทย ที่ชาวโลกนิยมว่าอร่อยที่สุดใน 

 

นอกจากนี้การจะขายสินค้าระดับ premium หรือสร้าง brand ขึ้นมาได้ 1.ของทุกคนต้องดี 2.ผู้บริโภคต้องมั่นใจว่า สินค้าที่ซื้อเป็นของแท้ 3.ต้องมี packaging มีเรื่องราวที่มาของสินค้า นั่นจึงเป็นที่มีของการทำ แพคเกจจิ้ง ที่ดูดี มีเรื่องราที่มีความเป็นอัตตลักษณ์ในท้องถิ่น เริ่มต้นจาก ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จากจังหวัดมหาสารคาม ปลูกแบบพรีเมียมอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 9 บรรจุแพคเกจ “กระจูดสาน” จากป่าพรุภาคใต้ และ "ถุงผ้าขาวม้าทอมือ" จากกลุ่มแม่บ้านชาวนาสารคาม 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ปีนี้พิเศษกระเป๋ากระจูดผสมผสานผ้าบาติก เขียนมือทุกผืน อัตลักษณ์ดั่งเดิมกว่า 20 ปี จากบ้านบ่อแร่ จังหวัดภูเก็ต มาเพิ่มมูลค่าเป็นกระเป๋าบรรจุภัณฑ์ จึงรวมเป็นแพคเกจจิ้งที่มีเรื่องราว และความงดงาม เพิ่มมูลค่า ช่วยชาวบ้านเพิ่มรายได้ทั้ง 3 จังหวัด 2 ภูมิภาค น่าซื้อหามาเป็นของขวัญ ของฝาก ในโอกาสต่าง ๆ 

 

 

อย่างไรก็ตาม นายกรณ์ กล่าวว่า เรื่องของผลผลิต มั่นใจว่าชาวบ้านทำได้ทุกอย่าง ขอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยส่งเสริมและสนับสนุน ให้คำชี้แนะ แต่สิ่งที่ชาวบ้านขาด และรัฐบาลเองก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรคือการหาตลาด เกษตรกรเขาต้องการพึ่งพาตรงนี้มากที่สุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ตลาดการค้าขายออนไลน์ บูมขึ้นมาก สามารถขยายผลสินค้าได้ในหลาย ๆ ช่องทางการให้ความรู้ ความเข้าใจและวิธีการเข้าถึงลูกค้า จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก 

 

ซึ่งพรรคชาติพัฒนากล้า ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยมีนโยบายเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็กมาที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อยู่พรรคกล้า จนมาถึงพรรคชาติพัฒนากล้า ก็ยังคงเน้น และเดินสายให้ความรู้ กับ ชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ด้วยหวังจะเพิ่มโอกาสให้กับ เกษตรกร ในการขายผลผลิต ออกสู่ท้องตลาด ผลผลิตดี ถ้าขายไม่ได้ สุดท้ายชาวบ้านก็ต้องหันไปใช้วิธีการเดิม ที่ขายผลผลิตได้ แม้ในราคาที่ต่ำกว่าก็ตาม 

 

9 ปี ข้าวอิ่ม มหาสารคาม  ช่วยชาวนาปลดหนี้ทั้งหมู่บ้าน

ด้านนางจิราภรณ์ อินทะสร้อย ชาวนา บ้านหนองหิน ต.โคกก่อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม กล่าวถึงถึงเหตุผลของการตัดสินใจ เปลี่ยนวิถีปลูกข้าวแบบเดิม มาเป็นเกษตรอินทรีย์ จากคำแนะนำของ “กรณ์ จาติกวณิช” ว่า เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำเหลือเพียงเกวียนละ 8,000 กว่าบาท ชาวนามีหนี้สินสะสมเกือบทั้งหมู่บ้าน แต่ไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร จึงต้องอยู่ในวังวนกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนปลูกข้าวไม่รู้จักจบสิ้น 

 

เพราะทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ราคาพุ่งสูงขึ้น ชาวนาบางรายได้รับผลพวงจากการสัมผัสสารเคมี เจ็บป่วย ล้มตายก็มีไม่น้อย คุณภาพชีวิตย่ำแย่ ดินเสื่อมจากปุ๋ยเคมี ผลผลิตตกต่ำ ข้าวไม่ได้น้ำหนัก และไม่ได้ราคา ทั้งที่ข้าว จ.มหาสารคาม ฝรั่งบอกว่าอร่อยที่สุดในโลก  

 

 

นางจิราภรณ์ เล่าต่อว่า เมื่อคุณกรณ์ ลงพื้นที่มาแนะนำกลุ่มชาวนา ให้ทำเกษตรอินทรีย์ ภายใต้ “โครงการเกษตรเข้มแข็ง” เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต เราก็มาคุยกันในหมู่บ้าน นั่งฟังแล้วเกิดความคิดว่า ในเมื่ออยู่ไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เราน่าจะลองทำเกษตรวิถีใหม่ ตามที่คุณกรณ์แนะนำ จึงมีคนเห็นด้วยและพร้อมที่จะลุยกัน 7 ครอบครัว จึงได้จดจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวอินทรีย์บ้านหนองหิน และทำกันจริงจัง แบบหักดิบ 

 

 

“ตอนนั้น ก็มีคนหัวเราะเราว่า ข้าวไม่ใส่ปุ๋ยจะโตได้ยังไง เราก็ไม่ท้อนะ ลงนาพลิกฟื้นผืนดินใหม่ ทำปุ๋ยหมักจากขยะ ปีแรกขาดทุน แต่เราเข้าใจว่าเป็นช่วงปรับดิน แต่พอเข้าปี 2 เริ่มดีขึ้น พอปี 3 เราได้กำไรเลย ข้าวเริ่มดีมีน้ำหนัก ขายได้ราคาจากตันละ 8,000 เป็นตันละ 20,000 – 25,000 บาท เพิ่มขึ้นมา 3 เท่าตัว 

 

ชาวนาที่มีหนี้มีสิน เริ่มปลดหนี้ปลดสินกันได้ และปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 9 กลุ่มของเราได้รับรางวัลข้าวคุณภาพเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ ไม่ว่ารัฐจะมีโครงการอะไรเข้ามาเราก็สมัครเข้าร่วมหมดตอนนี้ เราเลยมีทั้งรถเกี่ยวข้าว โรงสีชุมชน เครื่องบรรจุสุญญากาศ ฯลฯ ทำให้เราพัฒนาการผลิตได้อย่างเต็มที่ 

 

อย่างพี่เองแต่ก่อนก็หนี้สินรวมราว ๆ 3 ล้าน จนเหลือไม่กี่แสนแล้ว นอกจากปลดหนี้ เราก็ยังมีเงินได้กิน ได้ใช้ และได้ส่งลูกเรียนจนจบ” นางจิราภรณ์ กล่าว 

 

 

สำหรับ “ข้าวอิ่ม” เป็นผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องปลอดสารฯ คัดพิเศษ ประกอบไปด้วย ข้าวกล้องพันธุ์พื้นเมืองจากทุ่งกุลาร้องไห้ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอม มะลิแดง และข้าวหอมนิล ผสมกันบรรจุอยู่ใน ถุงสุญญากาศอย่างดี โดยมีกลุ่มชาวนาเป็นผู้ดูแลขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่ ปลูกเอง เกี่ยวเอง ดูแลการ สีข้าวเอง และแพ็กใส่ถุงเอง 

 

ทำให้ ผู้ซื้อยังมั่นใจได้ว่ามีส่วนร่วม โดยตรงในการช่วยเหลือให้วิถีชีวิตชาวนามี ความยั่งยืน และยังได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษอีกด้วย

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 096-672-2093 , LINE :@immrice ( lin.ee/6e30PFp)

หรือ inbox เพจ https://www.facebook.com/immrice