ข่าว

นับถึงวันที่ 8 ธันวา เฉพาะปี 2565  'สภาล่ม'  13 ครั้ง

นับถึงวันที่ 8 ธันวา เฉพาะปี 2565 'สภาล่ม' 13 ครั้ง

08 ธ.ค. 2565

เปิดสถิติ 'ประชุมสภา' เฉพาะปี2565 รัฐบาลไม่สามารถรักษาองค์ประชุมได้ตลอดรอดฝั่ง ทำให้เกิดปัญหาสภาล่ม มาแล้ว 13 ครั้ง

 

นับจากเปิดประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่2 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา รัฐบาลเผชิญปัญหาองค์ประชุมสภาไม่ครบ เฉพาะการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว4 ครั้ง แต่หากนับตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม ประชุมสภาและประชุมร่วมรัฐสภา ประสบปัญหาสภาล่มมาแล้ว13 ครั้ง  โดยมีรายละเอียดดังนี้

19 ม.ค. 2565 ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ก.ย.ศ.
21 ม.ค. 2565 พิจารณารายงานขุดคลองไทย 
2 ก.พ. 2565 พิจารณาร่าง พ.ร.บ. สรรพาสามิต
4 ก.พ. 2565 พิจารณารายงานการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง 
10 ก.พ. 2565 ฝ่ายค้านเสนอญัตติขอนับองค์ประชุม หลังที่ประชุมสภาฯ รับทราบประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2565 เสร็จสิ้นแล้ว ปรากฎมีองค์ประชุม เพียง 227 เสียง ซึ่งไม่ครบองค์ประชุม 237 เสียง
15 ก.ย. 2565 ระหว่างพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องขอให้สภาฯพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ตามที่สภาฯมีมติในการออกเสียงประชามติ

 

 

ในสมัยประชุมปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2565 เป็นต้นมา องค์ประชุมก็ล่มไม่เป็นท่าอีกครั้ง

ประเดิมครัั้งแรกเมื่อ 3 พ.ย. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่2) เป็นพิเศษ ระหว่างรับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ญัตติเพื่อพิจารณาศึกษาสอบหาข้อเท็จจริงกรณีการปิดอ่าวมาหยา จ.กระบี่

23 พ.ย. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่2)
ระหว่างวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ...ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว 

1 ธ.ค. 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อเข้าสู่วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ..

และล่าสุด สดๆร้อนๆ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น มีการขอตรวจสอบองค์ประชุม ปรากฏว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แสดงตนซ้ำทำให้องค์ประชุมไม่ครบ

นอกจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว การประชุมร่วมรัฐสภา ก็เผชิญปัญหาสภาล่มมาแล้ว 3 ครั้งคือการประชุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ

10 ส.ค. 2565 องค์ประชุมรัฐสภาล่มอีกครั้ง ระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2 ของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับแก้ไขเพ่ิมเติม สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

และการประชุมเมื่อ15 ส.ค. 65  ขณะที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง  ส.ส. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่ 2

 

 

การรักษาองค์ประชุมเป็นมาตรวัด เสถียรภาพของรัฐบาลหากเกิดความร้าวฉานกัน การคุมเสียงในสภาจะยากลำบากมากขึ้น ฝ่ายค้านจะใช้ช่องทางนี้โจมตีฝ่ายรัฐบาล

ฝ่ายรัฐบาลจะให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการประชุมก็ต่อเมื่อมีร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเข้าสภา เพราะหากร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ไม่ผ่านสภา หรือมีเสียงที่ไม่เห็นด้วยมากกว่าเห็นด้วย เป็นธรรมเนียมทางการเมืองว่าคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก