พฤติกรรมชัด ฮั้วประมูล 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม'
'ประมูล' รถไฟฟ้าสายสีส้ม พฤติกรรมฮั้วประมูลชัด อดีตอธิบดีดีเอสไอ ชี้ช่องเอาผิดกฎหมายการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ อดีตอธิบดีดีเอสไอโพสเฟสบุ๊คระบุว่าแถลงการรฟม.ยิ่งเพิ่มข้อสงสัยว่าการทุจริตมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาทอาจมีจริง มีเนื้อหาว่า สำนักสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจง โต้ BTS ปมทุจริต สัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อนั้น
รฟม. ไม่ได้ตอบชี้แจงให้หายสงสัยในประเด็นของการทุจริต ที่รัฐต้องรับภาระแพงขึ้นประมาณ 68,612 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้ภาษีของพี่น้องประชาชนมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐในส่วนนี้ แต่การชี้แจงของ รฟม ได้เพิ่มความสงสัยและน่าเชื่อว่าการทุจริตมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท มีจริง เพราะ
ข้อกล่าวหา รฟม. เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้องาน เป็นการออกข้อกำหนด กีดกันไม่ให้มีผู้เข้าแข่งขันมากราย และไม่เป็น international competition Bidding ตาม มติ ครม. เพียงเพราะต้องการกีดกันไม่ให้ BTS เข้าประมูล ครั้งที่ 2
การกีดกัน BTS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ประเทศไทยยาวนานประมาณ 23 ปี (ประเทศไทยมีผู้ให้บริการเดินรถมีเพียง 3 รายเท่านั้น) ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่เพราะขาดคุณสมบัติต้องห้ามด้านการรับเหมา
ทำให้มีผู้เสนอราคาได้แค่รายเดียวคือ BEM ซึ่งเสนองานแพงกว่ากลุ่ม BTS ที่เสนอราคาครั้งที่ 1 มากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท จึงมีคำถามว่า ทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินเพิ่มถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ?
การอนุญาตให้กลุ่ม ITD เข้าประมูล ทั้งที่ประธานบริหารและกรรมการ ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ขัดพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 33 ไม่อาจผ่านคุณสมบัติได้ บทบัญญัติของกฎหมายที่มีสภาพบังคับให้เอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว ไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน
แต่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ดันทุรังให้บริษัท ITD ผ่านทั้งเกณฑ์คุณสมบัติ และเทคนิค แม้จะมีเสียงทักท้วงถึงความไม่ถูกต้อง จึงมองได้อย่างเดียวว่า มีเจตนาเคลือบแฝง คือต้องการให้มีผู้ผ่านเกณฑ์มากกว่า 1 ราย เพื่อเปิดซองราคา เป็นคู่เทียบที่กล้าทำก็เพราะน่ารู้อยู่แล้วว่าใครจะเป็นผู้ชนะ และถึงแม้เกิดการพลิกล็อก ITD ยื่นขอเงินสนับสนุนต่ำกว่า ก็ยังสามารถจัดการตี ITD ให้ตกในขั้นตอนสุดท้ายได้ ไม่ว่าจะออกหน้าใหน ผู้ได้ผลประโยชน์ก็ยังเป็นผู้รับเหมาเจ้าเดิมอยู่ดี
ตามมาตรา 10 พ.ร.บ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดซึ่งมีอํานาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณาหรือการดําเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้น
มีการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ละเว้นไม่ดําเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดําเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น มีความผิดฐานกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
พฤติการณ์และการกระทำเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ที่มีมูลเชื่อได้ว่า รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ว่าการเสนอราคา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ถึงการล็อคเสปค กีดกันและเอื้อประโยชน์
แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณาหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ยังละเว้นไม่ดําเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดําเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคา อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 ที่เป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง
และทำให้รัฐต้องรับภาระแพงมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องใช้ภาษีของพี่น้องประชาชนมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐในส่วนนี้ หรือชดเชยโดยการเรียกค่าโดยสารจากพี่น้องประชาชนจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
จึงขอชี้เบาะแสให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และหน่วยงานบังคับใช้กฏหมายในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่และอำนาจในการสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่เป็นหน้าที่ของรัฐและประชาชนต้องช่วยกันขจัดอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครองผู้ที่ชี้การชี้เบาะแส (ตามมาตรา 63) และหน้าที่ของปวงชนชาวไทยต้องไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบต่อไป