อดีตรองเลขาฯ 'ป.ป.ช.' ขอศาลปกครอง ยกเลิกคำสั่งไล่ออก
คำสั่งไล่ออก ไม่เป็นธรรม อดีตรองเลขาฯป.ป.ช. ร้องศาลปกครอง ไม่ได้รับความยุติธรรมในการพิจารณาคดี 'ร่ำรวยผิดปกติ'
หลังจากประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป.ป.ช. และกรรมการป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 ต่อศาลปกครอง โดยขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของประธานป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 ส.ค.65 ที่มีคำสั่งลงโทษไล่นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ออกจากราชการ ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ
กรณีเกิดจากการนำเอารายการทรัพย์สินห้องชุดที่สหราชอาณาจักร และบัญชีธนาคารกรุงเทพ 3 บัญชี ของธนาคารกรุงเทพ สาขาลอนดอน ที่คู่สมรสถือครองแทนบุคคลอื่นที่นายประหยัด ได้มีหนังสือยื่นชี้แจงประกอบรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ ที่ยื่นเป็นครั้งแรกให้มีความสมบูรณ์
ป้องกันการนำมาเป็นเหตุการกลั่นแกล้ง กล่าวหา เมื่อ นายประหยัด จะสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.มาเป็นทรัพย์สินแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับ นายประหยัด ว่าปกปิดทรัพย์สิน ซึ่งไม่ใช่เป็นการตรวจสอบพบเองของกรรมการ ป.ป.ช. เหมือนคดีอื่นทั่วไป หรือมีเรื่องร้องเรียนจากบุคคล หรือสื่อมวลชนเหมือนคดีอื่น
และไม่ได้เปิดโอกาสให้นายประหยัด ชี้แจง แต่กลับเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน และแจ้งข้อกล่าวหาทันทีผิดกับกรณีการตรวจสอบกรณีอื่นๆ
แม้เจ้าตัวขอให้ถ้อยคำชี้แจงด้วยตนเองต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ซักถามจนหมดข้อสงสัย แต่ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้แจ้งที่ประชุมว่ามีพยานเอกสารชัดเจนแล้วไม่จำเป็นต้องอนุญาตให้ นายประหยัด มาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการไต่สวนอีก
การไม่ให้นายประหยัด มาให้ถ้อยคำ จึงขัดกับหลักการไต่สวนที่สุจริต เป็นธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหา และทำให้นายประหยัด ได้รับโทษให้ออกจากราชการ ไม่มีโอกาสเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
นายประหยัดฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่เขาได้ร้องเรียน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และ น.ส.อพาลินทุ์ ลิ้มธเนธกุล กรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 และมีการติดตามทวงถาม แต่กลับไม่มีความคืบหน้านั้น
เพราะหากตอบชี้แจง หรือรับดำเนินคดีดังกล่าว พนักงานไต่สวนจะกลายเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ขัดแย้ง โกรธเคือง กับ นายประหยัด และเข้าองค์ประกอบมาตรา 56 ต้องขอถอนตัว ไม่สามารถไต่สวนดำเนินคดี หรือลงมติชี้มูล นายประหยัดได้ และทำให้คะแนนเสียงกรรมการเป็น 4:3 ไม่ชี้มูลความผิดนายประหยัด และคดีตกไปทันที
นายประหยัด ยังร้องเรียนถึงกรณีการถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของคณะกรรมการไต่สวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งขึ้น ไม่ปรากฏว่า นายประหยัด มีการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ อันจะเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด
การลงมติชี้มูลร่ำรวยผิดปกติ นายประหยัด ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา กับพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้บังคับบัญชา (ในขณะนั้น) เมื่อเปรียบเทียบคดีตรวจสอบทรัพย์สินนาฬิกาหรูของนักการเมืองที่ พลตำรวจเอก วัชรพล ขอถอนตัวตามมาตรา 56 แต่กับกรณีนายประหยัด ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา กลับร่วมลงมติชี้มูล นายประหยัด จนเป็นเหตุให้มีคะแนน 4:4 จนนายประหยัดถูกไล่ออก เป็นการดำเนินการ 2 มาตรฐานหรือไม่
cr กรุงเทพธุรกิจ