ข่าว

"เพื่อไทย"คัดค้าน สปสช.ชะลอจ่ายงบ คนไทย13.5 ล้านคนเดือดร้อน

"เพื่อไทย"คัดค้าน สปสช.ชะลอจ่ายงบ คนไทย13.5 ล้านคนเดือดร้อน

08 ม.ค. 2566

"เพื่อไทย"คัดค้าน สปสช. ชะลอจ่ายงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค คนไทย13.5 ล้านคนเดือดร้อน แนะระหว่างรอข้อสรุป ขอให้บริการไปก่อนเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา

หลังจากเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติชะลอการจ่ายเงินงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในส่วนของประชาชนที่ไม่ใช่สิทธิ "บัตรทอง" ออกไปก่อน เนื่องจากติดปัญหางบประมาณที่ครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น โดยให้รอความเห็นจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากมติดังกล่าว มีผลให้งบป้องกันการติดเชื้อHIV งบประมาณระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เฉพาะส่วนของผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองถูกชะลอไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้คนจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองได้รับความเดือดร้อน เช่น การฉีดวัคซีนที่จำเป็นและสำคัญในเด็ก , การให้ยาป้องกันในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี , การให้ยายุติการตั้งครรภ์ และการให้ถุงยางอนามัยแก่ผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์บัตรทองต้องถูกยกเลิกให้บริการจากสถานบริการเดิม แล้วให้ไปรับบริการจากสถานบริการอื่นตามสิทธิอื่นที่มีอยู่

 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ที่จริงแล้วการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ทุกสิทธิเป็นบทบาทที่ สปสช. ทำต่อเนื่องมา 10 กว่าปี งบประมาณที่ สปสช.ขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก็แจ้งไว้ว่า จะใช้งบประมาณก้อนนี้สำหรับประชาชนทุกสิทธิ ดังนั้นหากกังวลเรื่องข้อทักท้วงทางกฎหมาย ควรทำให้เกิดความชัดเจน แต่ต้องไม่สร้างผลกระทบต่อคนจำนวนมากมายเช่นนี้ โดยจัดให้บริการไปพลางก่อนเหมือนที่ได้ปฏิบัติมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ระหว่างรอการพิจารณาทางกฎหมาย ซึ่งการชะลอจ่ายประมาณส่วนนี้ไป  รวมแล้ว 514 ล้านบาท  กระทบกับพี่น้องประชาชน 13.5 ล้านคน

ดังนั้นขอเรียกร้องให้ 

1.กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.ต้องรีบจัดสรรงบไปยังสถานบริการให้เร็วที่สุด ตามขั้นตอนและวิธีการเดิมไปก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน
2.เร่งพิจารณาข้อกฎหมาย โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องรีบชี้ชัดในข้อกฎหมายโดยเร็ว  
3.อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณา ว่า การชะลอการจ่ายเงินส่วนนี้เป็นการละเมิด พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 หรือไม่  

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งนี้เกิดจากการตีความของคณะที่ปรึกษาทางกฎหมายที่มีข้อสังเกต จึงส่งไปให้คณะกฤษฎีกาตีความ ทั้งที่งบประมาณส่วนนี้ดำเนินการกันมาตั้งแต่ปี 2545 ไม่มีปัญหาอะไร อีกทั้งงบก้อนนี้อยู่ในงบประมาณปี 2566 ซึ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปแล้ว 

"ขาเข้าสมาชิกรัฐสภาคำนวณให้หมด  แต่ขาออกเอางบไปพักเอาไว้  ถ้าเป็นผม จะปลดที่ปรึกษากฎหมายคนนี้ออก ถ้าไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้  รอการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เลย"

นายชานันท์ ยอดหงส์

ด้านนายชานันท์ ยอดหงส์ สมาชิกพรรคเพื่อไทยและผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย ยังพูดถึงการใช้ยาเพร็พ (PrEP) กับยาเป็ป (PEP) ซึ่งยาเป็บคือยาที่ป้องกัน HIV ทั้งหลังและก่อนรับเชื้อ โดยมีผลสำรวจพบว่า มีผู้บริโภคยาเพร็บในประเทศไทยถึง 2.4 – 2.5 หมื่นคนต่อปี และในจำนวนผู้รับยาเพร็บมีถึง 60% ที่รับยาผ่านคลินิกและศูนย์สุขภาพภาคประชาสังคม มีเพียง 15% ที่รับผ่านโรงพยาบาล ที่เหลือเป็นการซื้อบริโภคเอง แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของการเลือกรับบริการในการเข้าถึงยาอย่างมาก แต่จากประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้คลินิกและศูนย์สุขภาพภาคประชาสังคมต้องยุติการให้ยา

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องทราบดีกว่า บุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานล้นมืออยู่แล้ว ทำไมถึงออกมาตรการยาเพร็พที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานกันมากขึ้นและขัดกับหลักยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ ตั้งแต่ปี 2560-2573 ที่ตั้งเป้าลดผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV รายใหม่ไม่เกิน 1,000 คนต่อปี และปี 2573 จะขจัดโรค HIV หรือเอดส์ไปจากประเทศไทย จึงขอให้เรียกร้องให้คลินิกและศูนย์สุขภาพภาคประชาสังคมดำเนินการให้บริการยาเพร็พต่อไปได้ โดยมีภาครัฐสนับสนุนงบประมาณ