ข่าว

'เลือกตั้ง'ครั้งหน้า วัดฝีมือขวาใหม่ ในกรุงเทพฯ

'เลือกตั้ง'ครั้งหน้า วัดฝีมือขวาใหม่ ในกรุงเทพฯ

12 ม.ค. 2566

ไผ่แยกกอ อดีตแนวร่วม'กปปส.' แยกพรรค เลือกตั้งครั้งหน้า วัดฝีมือทำพื้นที่เลือกตั้ง สนามปราบเซียน กรุงเทพมหานคร

 

ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่ผ่านมา การชุมนุมทางการเมืองกว่าสองร้อยวัน ปิดฉากลงด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม2557  ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ได้สมใจคณะบุคคลที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส

 

สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เป็นหัวขบวน ร่วมกับแนวร่วมอนุรักษ์นิยม เป็นการชุมนุมที่ถือกำเนิดมาจากความพยายาม ดันกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยของพรรคเพื่อไทย

 

 

ในบรรดาหัวหมู่ทะลวงฟัน ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญถึงระหว่างการชุมนุม กปปส. หรือที่เรียกกันว่าตัวพ่อ ในยุคนั้น ยังนับได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่   กลับมามีบทบาทสำคัญในการจัดการเลือกตั้งครั้งหน้า และอยู่ในระนาบเดียวกับที่เคยขับเคี่ยว เดินหน้าชัตดาวน์ประเทศไทย  ได้ร่วมเข้าไปเป็นแกนหลัก เป็นกำลังสำคัญในแต่ละพรรคเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ  ไล่เรียงตามลำดับประกอบด้วย

 

  1. พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์  แกนนำกลุ่มยังบลัด กปปส. ย้ายเข้าไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย พร้อมกับหนีบอดีต ส.ส.พลังประชารัฐร่วมสังกัดใหม่ 5 รายได้แก่  นายจักรพันธ์ พรนิมิตร  พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์   กษิดิ์เดช ชุติมันต์ ภาดาท์ วรกานนท์ และ กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา พร้อมเปิดตัวทีมคนรุ่นใหม่ เป้าหมาย ภูมิใจกรุงเทพฯ
  2. เอกณัฐ พร้อมพันธ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ นอกจากจะมีชาติพันธุ์ทางการเมืองแล้ว ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนมาอยู่ร่วมชายคากับ พีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ที่อกหักจากการท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาเหมือนกัน  หมายมั่นชิงส่วนแบ่งกทม.หวังอาศัยแต้มต่อจากอดีตส.ส.พลังประชารัฐที่จะย้ายมาสังกัดพรรคลุงตู่  มีชุมพล จุลใส เป็นลมใต้ปีกอยู่ในปักษ์ใต้ตอนบน

  3. สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ อดีต​แกนนำ กปป​ส. และเป็นบุตรชายของอดีตเลขาธิการ คมช. ว่ากันว่า เลือกตั้งครั้งหน้า ต้องทำงานอย่างหนัก  เพราะกระแสของพลังประชารัฐตกต่ำ  จนทำให้ผู้ร่วมอุดมการณ์หลายราย ต้องหนีตายออกจากพรรค แม้จะมีแรงหนุนจาก ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี แต่ความที่เคยดำรงตำแหน่งเสมา 1 จึงยังพอมีต้นทุนอยู่บ้าง

 

 

การเลือกตั้งทุกครั้งว่ากันว่าสนามกทม.ถือเป็นสนามปราบเซียน ไม่สามารถคาดการล่วงหน้าได้ และเอาใจยากที่สุด จุดพลิกผันวัดกันจนนาทีสุดท้าย  เหล่าทหารเสือแม้เคยเป็นเพื่อนร่วมค่าย สหายร่วมรบ  ถึงเวลาต้องกระชากเรตติ้ง แย่งชิงพื้นที่   ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีมุกใหม่   10 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ทั้งกระแสชัตดาวน์กรุงเทพฯและปฏิรูปก่อนเลือกตั้งล้วนผุพังไปตามกาลเวลาแล้ว