ข่าว

กสศ.เสนอครม.เคาะงบ7.9พันล้าน เพิ่มโอกาสนร.ยากจนเข้าถึงการศึกษา

กสศ.เสนอครม.เคาะงบ7.9พันล้าน เพิ่มโอกาสนร.ยากจนเข้าถึงการศึกษา

17 ม.ค. 2566

กสศ.เสนอครม.เคาะงบ7.9พันล้าน เพิ่มโอกาสนร.ยากจนเ 3.5ล้านคน เข้าถึงการศึกษา ชี้เศรษฐกิจเป็นต้นเหตุปัญหาทางการเงินของครอบครัวยากจน พบเฉลี่ยรายได้ 34 บาทต่อวัน

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการจัดนิทรรศการหลักประกันโอกาสทางการศึกษา 20 ปี ไร้รอยต่อ และการส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ผ่านโครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาค หรือ Equity Partnership’s School Network โดยมีนายพงศกร อาสาพิทักษ์ไพร หรือ น้องแดง เจ้าของจดหมายลาครูที่เคยโด่งดังในโซเชียล เพราะต้องลาโรงเรียนไปช่วยพ่อแม่ทำงาน เป็นตัวแทนนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับการศึกษาต่อเนื่อง และนายนพรัตน์ เจริญผล จากอำเภอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ติดตามน้องแดง ให้กลับมาเรียน เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ร่วมเข้าพบนายกรัฐมนตรีด้วย 

 

พลเอกประยุทธ์ กล่าวทักทายว่า ให้ตั้งใจเรียน พร้อมฝากครูบอยให้ดูแลเด็กนักเรียน พาเด็ก ๆ ที่ขาดโอกาสให้กลับมาเรียนต่อ

กสศ.เสนอครม.เคาะงบ7.9พันล้าน เพิ่มโอกาสนร.ยากจนเข้าถึงการศึกษา

นายกรัฐมนตรี ยังให้กำลังใจและชื่นชมผลงานนักเรียนภายใต้โครงการดังกล่าว ถือเป็นต้นแบบสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและส่งเสริมทักษะชีวิตระหว่างเรียน หวังว่า จะช่วยพัฒนาทักษะของนักเรียนให้สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน จะช่วยลดช่องว่างในสังคม โดยไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทาง การศึกษา 

 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเลือกซื้อผลงานนักเรียนในโครงการผ่านแพลตฟอร์ม shopee รายได้ทั้งหมดมอบให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคในโครงการโดยไม่หักค่าใช้จ่าย 

ด้านดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 5 ปี สามารถสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา โดยป้องกันเด็กและเยาวชนกว่า 3.5 ล้านคนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาและส่งต่อให้ศึกษาสูงกว่าภาคบังคับจนถึงอุดมศึกษาหรือสายอาชีพ เพื่อขจัดวงจรความยากจนข้ามรุ่น นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเด็กและเยาวชนนอกระบบกว่า 40,000 คน ได้กลับเข้าสู่การเรียน 

 

จากการสำรวจนักเรียนยากจนพิเศษ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า มีในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน  

  

ซึ่งพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มว่ามาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันต่าง ๆ และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพบภาวะยากจนเฉียบพลันของประชากรและรายได้ต่อครัวเรือนลดลงต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ของปี 2565 พบว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษอยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น 

มีนักเรียนกว่า 1.3 ล้านคน ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) จาก กสศ. และนักเรียนยากจนอีก 1.8 ล้านคน กสศ. ได้สนับสนุนผลการคัดกรองให้ต้นสังกัดจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม

 

สำหรับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค ตั้งแต่ในปีการศึกษา 2561 มีนักเรียนชั้น ม.3 ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานฯ จาก สพฐ. รวม 148,021 คน โดยปีการศึกษา 2564 พบว่านักเรียนกลุ่มนี้เรียนอยู่ชั้น ม.6 จำนวน 62,042 คน และ กสศ. ได้เชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ปีการศึกษา 2565 พบว่ามีเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือจากการคัดกรองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษของ กสศ. เมื่อปีการศึกษา 2561 ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ TCAS ในปีการศึกษา 2565 จำนวน 20,018 คน กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 75 แห่ง หากเด็กนักเรียนทั้ง 20,018 คน สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จะทำให้รายได้ตลอดช่วงชีวิตของพวกเขาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 66,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3 ล้านบาทต่อคน

 

สำหรับต้นทุนสนับสนุนให้เด็ก ๆ สามารถเรียนจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ในภาพรวม อยู่ที่ประมาณ 8,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 410,000 บาทต่อคน ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 7 เท่า หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของการลงทุนแบบ IRR อยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบเคียงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า และยังสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐประมาณร้อยละ 2.7 จึงเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแผนการใช้เงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินงบประมาณจำนวน 7,985786,100 บาท เพื่อลดผลกระทบทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย กสศ. ได้เตรียมแผนเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคให้กับนักเรียนยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพประชาชนและอัตราเงินเฟ้อต่อไป

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี