ตรวจสอบด่วน มหาดไทย โอน “เงินเยียวยาน้ำท่วม” ล็อตแรกแล้ว!
มหาดไทย โอนแล้ว “เงินเยียวยาน้ำท่วม” ล็อตแรก 3.8 หมื่นครัวเรือน นายกฯ กำชับทุกหน่วยงานต้องช่วยเหลือเยียวยาให้รวดเร็ว ถูกต้อง วอนผู้ลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือรีบตรวจสอบดสิทธิ์
น้ำท่วมปี 2565 หลายพื้นของประเทศไทยประชาชนได้รับความเดือดร้อน อย่างหนัก บ้างก็บ้านจมอยู่กับน้ำท่วมนานนับเดือน ไม่มีอาหารประทังชีวิต บ้างก็สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก บ้างก็พื้นที่เกษตรกรรมเสียหาย ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากรัฐบาลเพื่อ "เงินเยียวยาน้ำท่วม" ล็อตแรกแล้ว
โดย นางสาว ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดและได้เร่งรัด กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ รวดเร็วและถูกต้องที่สุดนั้น
ทาง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือปภ.โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เริ่มโอนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งที่ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนจำนวน 38,408 ครัวเรือน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยเป็นกรณีพิเศษ พร้อมทั้งอนุมัติกรอบวงเงิน 6,258.54 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวนใน 66 จังหวัด ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือ มีอัตราตั้งแต่ 5,000-9,000 บาท ได้แก่
- กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท
- กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ได้รับเงินช่วยเหลือ 7,000 บาท
- กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วัน ขึ้นไปให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปภ. ได้ดำเนินการบันทึกข้อมูลเข้าระบบตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2565-20 มกราคม 2566 แล้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น 562,212 ครัวเรือน จาก 66 จังหวัดที่ประสบอุทกภัยและกรุงเทพมหานคร ซึ่งมี 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตราด นราธิวาส และจังหวัดอำนาจเจริญ และรายงานว่าไม่มีครัวเรือนที่เข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ จังหวัดปทุมธานี จัดส่งข้อมูลบัญชีรายชื่อครัวเรือนผู้ประสบอุทกภัย ปี 2565 ชุดแรกให้ ปภ.จำนวน 39,425 ครัวเรือน จำนวนเงินทั้งสิ้น 311,838,000 บาท โดย ปภ.ได้ส่งกรมการปกครองตรวจสอบความถูกต้องของเลขประจำตัวประชาชน และส่งข้อมูลครัวเรือนผู้ประสบภัยให้ธนาคารออมสินเรียบร้อยแล้ว จำนวน 39,414 ครัวเรือน ส่วนผู้ประสบภัยอีก 11 รายพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้องจึงได้ส่งให้จังหวัดดำเนินการตรวจสอบอีกครั้ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ปภ.ได้ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินและธนาคารออมสินได้โอนเงินช่วยเหลือ ครั้งที่ 1 เข้าบัญชีผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 38,408 ราย ผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) แบ่งเป็น ธนาคารออมสิน 5,645 ราย และธนาคารอื่น 32,763 ราย อย่างไรก็ตาม มีผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 1,006 ราย ไม่สามารถโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ได้เนื่องจากไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน ซึ่งปภ.ได้แจ้งให้จังหวัดประสานผู้ประสบภัยมาดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์เพื่อรับเงินช่วยเหลือต่อไป
ขณะเดียวกันมีจังหวัดที่ได้จัดส่งข้อมูลครัวเรือนผู้ประสบอุทกภัยมาให้ ปภ. เพิ่มเติมแล้วอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น และสุพรรณบุรี รวม 75,841 ครัวเรือน จำนวนเงิน 547,805,000 บาท ซึ่งจะได้รวบรวมส่งให้ธนาคารออมสินเพื่อดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีต่อไป สำหรับจังหวัดอื่น ๆ หลายจังหวัดได้มีกำหนดการประชุม ก.ช.ภ.จ. เพื่อตรวจสอบและจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ ปภ. เพื่อให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยได้ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด
สำหรับประชาชนที่ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว สามารถติดตามสถานะการดำเนินการของตนเองได้ที่ https://flood65.disaster.go.th หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หมายเลขโทรศัพท์ 0-2637-3511
“นายกฯ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้รวดเร็ว ครอบคลุมและทั่วถึง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในที่อยู่อาศัย เครื่องมือทำมาหากิน ด้านเศรษฐกิจ สร้างอาชีพสร้างรายได้ ด้านสุขภาพพลานามัย ด้านจิตใจ เป็นต้น รวมทั้งเตรียมแผนรับมือปัญหาในระยะยาว”รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว