ข่าว

สว.เสนอจ่ายคนละ 500 บาทจูงใจให้ไป'เลือกตั้ง'

สว.เสนอจ่ายคนละ 500 บาทจูงใจให้ไป'เลือกตั้ง'

23 ม.ค. 2566

สว.เสนอจ่ายค่าอำนวยความสะดวกผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคนละ500บาทให้ไปลงคะแนน ใช้บัตรใบเดียวเลือก 'ส.ส.'ทั้ง2ระบบ

 

วุฒิสภาพิจารณาแนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ที่กรรมาธิการ การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน พิจารณาแล้วเสร็จ  มีข้อสังเกตเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.เขต ให้ใช้บัตรใบเดียว โดยที่ไม่ต้องมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดลำดับที่หนึ่งเป็น ส.ส. ในเขตเลือกตั้งนั้น เว้นในเขตที่มีได้มากกว่าหนึ่งคนให้ผู้ที่ได้คะแนนลำดับรองลงมาเป็น ส.ส. เรียงตามลำดับคะแนนไปจนกว่าจะครบจำนวน

 

ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต ที่แพ้เลือกตั้ง แต่ได้คะแนนสูงสุดในบรรดาผู้ที่ไม่ได้รับเลือก  เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อให้เรียงลำดับไปจนครบจำนวนตามที่กำหนด เพื่อให้ได้ ส.ส.เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อมาจากผู้ได้รับคะแนนสูงสุดจากประชาชน

 

 

เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการฯ รายงานผลการศึกษา ปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการใช้กฎหมายเลือกตั้ง ระบุว่าการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรมมาจากหลายกรณี เช่น การซื้อสิทธิ์ขายเสียง เกิดจากภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนและปัญหาทางเศรษฐกิจ และเกิดวัฒนธรรมทางการเมืองแนวทางที่จะสร้างปัญหากลายเป็นอิทธิพลในท้องถิ่น และการจัดเลือกตั้งยังไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ   

และยังพบว่ามีการใช้เงินซื้อเสียงอย่างกว้างขวาง สะท้อนว่าการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ  เขาย้ำว่ารายงานฉบับนี้ได้รายงานบนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และอาจจะกระทบต่อนักการเมืองบางส่วน แต่จะก่อให้เกิดผลดีในทางปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม

 

สำหรับปัญหาในการจัดการเลือกตั้งประกอบด้วย

  • กระบวนการทุจริตการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
  • การบังคับใช้กฎหมายและการประชาสัมพันธ์เลือกตั้งยังไม่ครอบคลุมและเพียงพอ
  • กรอบระยะเวลาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้งมีน้อย
  • ผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่สามารถทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม
  • กฎหมายไม่เอื้อต่อการตรวจสอบและนำเข้าสู่การจับกุมผู้กระทำผิด
  • ภาครัฐต้องกำหนดค่าพาหนะคนละ500 บาท เป็นแรงจูงใจในการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งซึ่งต้องใช้งบประมาณ20,000 ล้านบาท
  • ผู้ที่ลาออกจากตำแหน่งต้องออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งซ่อม
  • แก้ไขกฎหมายให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งตั้งแต่เวลา 08:00 น. ถึง 16:00 น.

 

 

ประธานวุฒิสภายังเตือนสมาชิก คำนึงถึงข้อควรระวัง สว. ดำเนินการที่มีผลต่อการหาเสียงของพรรคการเมือง และ ส.ส. ในการเลือกตั้ง และข้อห้ามการไปแทรกแซง หรือไปทำงานให้รัฐบาล  ส่วนการเปิดประชุมวุฒิสภา ระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จะไม่สามารถประชุมวุฒิสภาได้เว้นแต่มีการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อพิจารณาวาระสำคัญจำเป็น เช่นการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ