ข่าว

จุดถกเถียง "ร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ" เปิดช่องตั้งสภาวิชาชีพฯใช้งบรัฐ

จุดถกเถียง "ร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ" เปิดช่องตั้งสภาวิชาชีพฯใช้งบรัฐ

06 ก.พ. 2566

ส่องจุดถกเถียงวงการสื่อต่อ "ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …."  ต้องตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และเปิดช่องให้กสทช.และรัฐจัดงบประมาณให้

ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …."  ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอบรรจุอยู่ในวาระพิจารณาในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566  

 

กำลังกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ของวิชาชีพสื่อมวลชน มากกว่าจะเป็นการส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชน

 

เรื่องใหญที่สุด เห็นจะเป็นประเด็น "การมีส่วนร่วม" ของคนในวงการสื่อ เพราะบริบท ภูมิทัศน์ของสื่อ จำนวนของสื่อ มีองค์กรสื่อสังกัดหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายโดยไม่ได้เอ่ยปากแสดงความคิดเห็นว่าเขาคิดอย่างไรกับกฎหมายฉบับนี้ในวันที่ยังตั้งไข่

และจุดที่มีการตั้งคำถามและถกเถียงกันมากมายคือ "สภาวิชาชีพสื่อมวลชน" ภายใต้พ.ร.บ.นี้ มีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และกํากับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ในการปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชนและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนา จริยธรรมสื่อมวลชนและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

 

ซึ่งคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ประกอบด้วย

  1. กรรมการผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จํานวน5คน
  2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวน5คน ซึ่งสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน ด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการคุ้มครอง ผู้บริโภค ด้านละ1คน และจากผู้เคยประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน อิสระ1คน
  3. กรรมการโดยตําแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …."

แต่ทว่า "บทเฉพาะกาล" ระบุว่า ในวาระเริ่มแรก ให้กรมประชาสัมพันธ์ สํานักนายกรัฐมนตรี ทําหน้าที่ หน่วยงานธุรการของสภาและของคณะกรรมการสรรหาจนกว่าจะมีสํานักงานตามพระราชบัญญัตินี้

 

และในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วย

  1. อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  2. ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อ ที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเสนอ จํานวน 2 คน
  3. ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อ ที่สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเสนอ จํานวน 1 คน
  4. ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อ ที่สภาวิชาชีพกิจการการกระจายเสียงและแพร่ภาพ (ประเทศไทย) เสนอ จํานวน 1 คน
  5. ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อ ที่สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เสนอ จํานวน 1 คน
  6. ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการสื่อสารมวลชน กฎหมาย สิทธิมนุษยชน หรือการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เสนอโดยกรรมการตามข้อ 1-5 ด้านละหนึ่งคน

 

สภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้

  1. รับจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
  2. ส่งเสริมการคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน
  3. ติดตามดูแลการทําหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนให้เป็นไปตามจริยธรรมสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน
  4. ส่งเสริมการรวมกลุ่มและกํากับดูแลกันเองขององค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และส่งเสริมให้องค์กรสื่อมวลชนจัดให้มีกลไกการกํากับดูแลจริยธรรม สื่อมวลชนภายในองค์กร
  5. สนับสนุนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในการเสริมสร้างจริยธรรมสื่อมวลชน และยกระดับมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
  6. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบสื่อมวลชนและการรอบรู้เรื่องสื่อ
  7. เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนของประเทศ 
  8. ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชน ในกรณีถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม หรือถูกดําเนินคดีเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ
  9. ให้คําปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานหรือบุคคลใดเกี่ยวกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 
  10. หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกําหนด

 

แต่ที่เป็นประเด็นไม่ใช่ภารกิจหน้าที่ แต่กลายเป็นเรื่อง "ที่มาของรายได้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน" มาจาก 7 ทางคือ

  1. เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม
  2. เงินที่ได้รับการจัดสรรตามมาตรา 9 คือ ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พิจารณาจัดสรรเงินจากกองทุนดังกล่าวให้แก่สภาเพื่อใช้จ่ายในการดําเนินงานของสภาเป็นรายปีตามที่สภาร้องขอตามความจําเป็นแต่ไม่น้อยกว่าปีละ 25 ล้านบาท 
  3. เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่าย
  4. รายได้และผลประโยชน์อันได้มาจากการดําเนินงานตามหน้าที่และอํานาจของสภา
  5. เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้โดยไม่ขัดหรือแย้งกับความเป็นอิสระในการดําเนินงาน ตามหน้าที่และอํานาจของสภา
  6. รายได้อื่นใดที่เป็นของสภา
  7. ดอกผลของรายได้

 

ทีนี้มาย้อนดูว่า ในร่างพ.ร.บ.กำหนด "มาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชน" ที่สภากําหนดต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับจริยธรรมในเรื่อง ดังต่อไปนี้

  1. การเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  2. การเสนอข้อเท็จจริงด้วยความถูกต้อง ครบถ้วนรอบด้าน และเป็นธรรม
  3. การให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลซึ่งได้รับผลกระทบจากการเสนอข่าวหรือการแสดง
  4. การเคารพสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิในความเป็นอยู่ ส่วนตัวของผู้เกี่ยวข้องในข่าวหรือในการแสดงความคิดเห็น
  5. ความซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาชีพสื่อมวลชนและการขัดกันแห่งผลประโยชน์
  6. การปกป้องและปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม

 

และสุดท้ายหนีไม่พ้นคำถามของสังคม แม้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านที่ประชุมรัฐสภาได้จริง มีตั้งสภาวิชาชีพสำเร็จ หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน สำหรับสื่อที่จดแจ้งต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีโทษ ดังต่อไปนี้ 1. ตักเตือน 2. ภาคทัณฑ์ 3. ตําหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน

 

อ่านฉบับเต็ม >>> ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….