สภาลุยต่อ พิจารณา ร่าง กม.คุ้มครองสื่อ วาระเร่งด่วน
สภาลุยต่อ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ฉบับคณะรัฐมนตรีเสนอ หลังไม่ครบองค์ประชุมในการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ก่อน
12 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่าสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ออกหนังสือนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 10 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่สอง ในวันศุกร์ ที่ 17 ก.พ.2566
โดยได้มีการระบุระเบียบวาระการประชุมในวันดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในวาระเร่งด่วน เรื่องแรก คือ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งเป็นการลงนามของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีร่างกม.ฉบับดังกล่าวได้มีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ก่อน และมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อได้ ออกแถลงการณ์ ขอให้ทบทวนร่างกฏหมายฉบับนี้ แต่เนื่องจากการประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์ก่อน องค์ประชุมไม่ครบ จึงได้มีการเสนอกลับมาพิจารณากันอีกรอบ ในวันที่ 17 ก.พ.นี้
ทั้งนี้ในการประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสมาชิกประสงค์ขออภิปราย 32 คน ในระหว่างลงมติ ที่ประชุมได้มีการเรียกนับองค์ประชุมก่อนที่จะมีการลงมติ แต่ปรากฏว่าองค์ประชุมมีเพียง 181 คน ไม่ครบองค์ประชุม ประธานฯ จึงสั่งปิดประชุมไปเสียก่อน
สำหรับระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ มีเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว คือร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว (พิจารณาต่อจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เป็นพิเศษ วันอังคารที่ 24 มกราคม 2566 )
เรื่องด่วน ได้แก่ 1.ร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ....(คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ) (พิจารณาต่อจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่สองเป็นพิเศษ วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อลงมติวาระที่หนึ่งชั้นรับหลักการ )
2. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช( แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกาตรา 272 ) ( นายชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ) (ค้างมาจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ) เป็นพิเศษ วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 )
3. ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ....
4.ร่างพ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ.(คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ )
5.ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่ ... พ.ศ....คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ )
6. ร่างพ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ )
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ก่อนหน้านั้นยังมีข้อถกเถียงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรวิชาชีพครูเนื่องจากร่างดังกล่าวไม่มีตัวแทนองค์กรวิชาชีพเข้าไปมีส่วนร่วมในบอร์ดบริหารทุกบอร์ดการศึกษา