ข่าว

'ก.แรงงาน' ชี้แจง ส่งคนไทยเก็บผลไม้ป่า 'สวีเดน-ฟินแลนด์' ถูกต้องโปร่งใส

'ก.แรงงาน' ชี้แจง ส่งคนไทยเก็บผลไม้ป่า 'สวีเดน-ฟินแลนด์' ถูกต้องโปร่งใส

19 ก.พ. 2566

'ก.แรงงาน' ชี้แจง คนไทยเก็บผลไม้ป่า 'สวีเดน-ฟินแลนด์' 20% ค่าจ้างต่ำ ขาดประสบการณ์ ยืนยันชดเชยตามกฎหมายครบทุกรายแล้ว

"กรมการจัดหางาน" ชี้แจงส่งแรงงานไทยเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนและฟินแลนด์ ยืนยันทำตามขั้นตอนทุกอย่าง โปร่งใส หลังถูก นายจรัส คุ้มไข่น้ำ สส. ชลบุรี พรรคก้าวไกล การอภิปรายพาดพิงค่าแรงน้อย มีการค้ามนุษย์ และถูกระงับวีซ่า 

 

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบายว่า เมื่อปี 2565 บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยได้จัดส่งคนงานไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ประมาณ 10,000 กว่าคน ในจำนวนนี้พบว่า มีแรงงานไทยที่มีปัญหาในเรื่องรายได้ที่ได้ต่ำกว่า 30,000 บาทนั้น มีอยู่ประมาณ 375 คน ซึ่งส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าเป็นครั้งแรก แรงงานเหล่านี้จึงยังไม่มีประสบการณ์ความชำนาญในการเก็บผลไม้ป่า จึงเก็บได้น้อยทำให้มีรายได้น้อย 

 

กรมการจัดหางานได้เชิญบริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยมาดำเนินการนำเงินประกันรายได้ หลังหักค่าใช้จ่ายที่บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยวางหลักประกันไว้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินชดเชยให้แรงงานตามสัดส่วนครบทุกรายแล้ว

การประกันรายได้

ในส่วนของฟินแลนด์ กำหนดให้บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่า หรือ บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทย ต้องวางหลักประกันทางการเงินตามจำนวนที่กรมการจัดหางานกำหนด ที่ ธ.ก.ส. หลังสิ้นสุดฤดูกาลต้องดำเนินการให้คนงานไทยมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 30,240 บาท 

ในส่วนของสวีเดน สหภาพแรงงานของสวีเดนได้มีเงินประกันรายได้ให้คนงานคนละ 24,000 โครน คิดเป็นเงินไทยกว่า 80,000 บาท หากรายได้คนงานไม่ถึงจำนวนดังกล่าว บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยจะต้องรับผิดชอบในการจ่ายคนงานให้ครบ

 

นายไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ในแต่ละปี จะต้องมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ สถานทูตไทยประจำประเทศฟินแลนด์และสวีเดน ประเทศต้นทาง และกรมการจัดหางาน ถึงจำนวนแรงงานที่ต้องการจัดส่ง โดยประเทศต้นทางจะเป็นผู้อนุมัติและมีหนังสือขอโควตาจำนวนคนงานที่จะให้ไปเก็บผลไม้ป่า

 

ในปีที่ผ่านมาทั้งสองประเทศ แจ้งมายังประเทศไทยว่า ปีนี้ผลผลิตเบอร์รี่ออกมาจำนวนมาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีคนงานไปเก็บผลไม้ป่า ประกอบกับเกิดภาวะสงครามระหว่างยูเครน รัสเซีย ทำให้คนงานยูเครนไม่สามารถไปเก็บผลไม้ป่าได้ ทำให้ต้องร้องขอให้ไทยจัดส่งแรงงานมากขึ้นกว่าปกติ

ส่วนกรณีการคุ้มครองดูแลคนงานที่ไปเก็บผลไม้ป่านั้นสำหรับประเทศฟินแลนด์ไม่มีสัญญาจ้างให้กับคนงาน เนื่องจากกฎหมายของประเทศนั้น ไม่เอื้อ แต่กรมการจัดหางานได้ผลักดันให้บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยจัดทำสัญญาจ้างงานให้คนงานไทยทุกรายก่อนเดินทางออกจากประเทศไทย และแจ้งให้สถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทยทราบ เพื่อยืนยันการปรับรูปแบบวิธีการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ให้เป็นรูปแบบนายจ้างในประเทศไทยขออนุญาตพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ

ส่วนประเทศสวีเดนกฎหมายกำหนดให้บริษัทสามารถทำสัญญาจ้างงานระหว่างนายจ้างกับคนงานได้ 

 

ทั้งนี้หากบริษัทผู้ประสานในประเทศไทยผิดสัญญา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบสัญญาจ้างตามกฎหมาย เพื่อให้มีการดูแลคนหางานอย่างครอบคลุมเข้มงวดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในเรื่องสวัสดิการกรมการจัดหางานได้กำหนดมาตรการให้บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์/บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยต้องจัดเตรียมสวัสดิการทั้งที่พัก ห้องน้ำ ห้องสุขา ห้องรับประทานอาหาร อุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวและอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ให้คนงานไทยทุกคน รวมทั้งต้องทำประกันการเดินทาง ประกันอุบัติเหตุ และประกันสุขภาพและได้มีหนังสือแจ้งให้สถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทยทราบแล้ว 

 

อธิบดีกรมการจัดหางาน ยืนยันว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานมุ่งมั่นทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศมาโดยตลอด และจากนี้จะยิ่งเพิ่มความเข้มงวด ในการตรวจติดตาม การประพฤติปฏิบัติต่อแรงงานของบริษัทนายจ้างในประเทศไทย 

 

หากพบว่ามีการเรียกรับค่าใช้จ่ายที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมหรือสนับสนุนให้แรงงานก่อภาระหนี้สิน จากเงินกู้นอกระบบ/เครือข่ายผิดกฎหมาย ผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบจะต้องได้รับโทษขั้นสูงสุด ตลอดจนคุ้มครองไม่ให้คนไทยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์