'พิธา' เปิดนโยบาย 'สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า' เปิดศึก 'ภาวะโลกร้อน'
'พิธา' แถลงข่าวเปิดนโยบาย 'สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า' แก้ปัญหา 'ภาวะโลกร้อน' มีแผนงานทั้งเชิงรับและรุก ซัดรัฐบาลโชว์ผลงานตามเป้าสหประชาชาติไม่จริง
พรรคก้าวไกล แถลงนโยบาย "สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า" เป็นนโยบายชุดที่ 7 จากทั้งหมด 9 โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่ชุมชนปากคลองรังสิต 0.ปทุมธานี ประกาศเอาจริงกับปัญหา "โลกร้อน" เนื่องจากมองว่าเป็นภัยความมั่นคงของยุคปัจจุบัน นี่คือศัตรูตัวจริงของรัฐบาล ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหารแบบเดิมอีกต่อไป ดังนั้น พรรคก้าวไกลต้องการประกาศศึกกับภาวะโลกร้อน โดยมีนโยบายที่ชัดเจน ทั้งในเชิง "รับ" เพื่อรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และในเชิง "รุก" ที่รุกไปที่ต้นตอของปัญหา เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้จริง ควบคู่กับสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม”
นโยบายเชิงรุก: เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593)
ด้านการผลิตไฟฟ้า = เปิดตลาดเสรี ส่งเสริมไฟฟ้าสะอาดพลังงาน:
1. "หลังคาสร้างรายได้" เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ครัวเรือน
2. "ปลดล็อกระเบียบ" สร้างตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรีของประชาชน
3. "ประกันราคา" ไฟฟ้าพลังงานสะอาด สำหรับครัวเรือน
4. "ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด" ภายใน 2035 (พ.ศ.2578)
ด้านการเกษตร = ป้องกันการเผา เปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกเป็นรายได้:
5. กำจัดการเผาภายใน 3 ปี งบปรับตัวตำบลละ 3 ล้านบาท 1,000 ตำบล
6. เปลี่ยนการเผาเป็นเงินในกระเป๋าเกษตรกร งบอุดหนุนปลูกข้าว “เปียกสลับแห้ง” แทนการเผา สร้างอุตสาหกรรมแปรรูปฟางข้าว-ซังข้าวโพดแทนการเผา
7. 1 ฟาร์มปศุสัตว์ 1 บ่อหมักก๊าซชีวภาพ (เป็นอย่างน้อย) เปลี่ยนมีเทนเหลือทิ้งให้เป็นพลังงาน
ด้านอุตสาหกรรม = จำกัดการปล่อยมลพิษอุตสาหกรรม:
8. กำหนดเพดานและเปิดตลาด (Cap & Trade) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม เปิดตลาดค้าขายแลกเปลี่ยนโควตา
9. PRTR – กฎหมายเปิดข้อมูล บังคับให้ทุกโรงงานเปิดข้อมูล สารพิษอันตรายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ด้านการขนส่ง = ปรับปรุงการขนส่งให้สะอาดที่สุด:
10. รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด ภายใน 7 ปี
11. “วันขนส่งฟรี” รณรงค์ลดใช้รถยนต์ส่วนตัว
12. เปลี่ยนรถไฟดีเซลเก่าเป็นไฟฟ้า
13. ตรวจสภาพรถยนต์ฟรี! ปีละครั้ง
14. ควบคุมปริมาณรถบรรทุกในเขตเมือง
ด้านขยะอาหาร = Zero Food Waste กำจัดขยะอาหารเหลือทิ้ง:
16. เพิ่มค่าขยะอาหารในห้างใหญ่ บังคับแยกขยะ-เก็บข้อมูล-ทำบัญชีขยะอาหาร
17. อาหารเหลือทิ้งแลกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมให้ชุมชนทำปุ๋ยจากอาหารเหลือทิ้ง เพื่อเป็นคูปองซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ ขยะเหลือทิ้ง 1 กิโล แลกได้ 1 บาท
ด้านพื้นที่สีเขียว = ป่าแลกเงิน เพิ่มพื้นที่สีเขียว:
18. ต้นไม้ปลดหนี้ รัฐจ่ายหนี้ค้างให้เกษตรกร ในฐานะค่าเช่า แลกกับใช้ที่ดินของเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น
19. ต้นไม้บำนาญ คนปลูกได้รับรายได้เป็นรายเดือน 1,200 บาท/ไร่/เดือน เป็นเวลา 20 ปี
20. ต้นไม้ทุนรัฐบาล อุดหนุนงบเกษตรกรปลูกป่า 4,000 บาท/ไร่ ในช่วงเวลา 3 ปี
21. ต้นไม้ชุมชน อุดหนุนปลูกป่าชุมชน 4,000 บาท/ไร่/ปี จำนวน 1,000 ชุมชน
22. เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ด้วยการเพิ่มงบท้องถิ่น ผ่านนโยบายทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า
นโยบายเชิงรับ: ช่วยประชาชนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นแล้ว
23. กองทุนปรับตัวรับมือภัยพิบัติ-น้ำท่วม
24. เตือนภัยทั่วถึง ครอบคลุมทุกท้องถิ่น
25. ท้องถิ่นประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติได้
26. ทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดรายลุ่มน้ำ
27. ศูนย์พักพิง-อพยพมีมาตรฐาน ท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณ
28. ชดเชยเป็นธรรมและทันควัน
29. ประกันภัยพืชผล ฟรี ในทุกพื้นที่รับน้ำ
นอกเหนือจากนโยบายด้านโลกร้อน พรรคก้าวไกลยังมีนโยบายสิ่งแวดล้อมในมิติอื่นๆ ที่จะชี้แจงรายละเอียดอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ เช่น การจัดการขยะ ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาช้างป่า ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหามลพิษทางแสง
ที่ผ่านมารัฐบาลอาจบอกว่า สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับสหประชาชาติ แต่ตัวเลขเหล่านั้น เราเก็บเอง เขียนรายงานเอง ต่างจากการประเมินโดยองค์กรระหว่างประเทศ ที่บอกว่า การรับมือในเรื่องนี้ของไทยอยู่ในระดับไม่เพียงพอขั้นวิกฤติ และหากทำตามนโยบายปัจจุบันของรัฐบาลต่อไป จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 4 องศา ในขณะที่ความพยายามของทั้งโลก ต้องการให้ต่ำกว่า 2 องศา
สำหรับการแถลงข่าวเปิดตัวนโยบายในวันนี้ นายพิธาตั้งโพเดียมยื่นแถลงกลางน้ำ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการกล่าวถ้อยแถลงของรัฐมนตรีการต่างประเทศ ของประเทศตูวาลู ในช่วงการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) โดยพิธากล่าวว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่าปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนมากกว่าที่คิดและส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประชาชน เช่น ปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงและถี่ขึ้น
จากตัวอย่างพื้นที่ปทุมธานีที่เป็นสถานที่แถลงนโยบาย คนในชุมชนนี้บอกว่าในอดีตน้ำท่วม 2-3 เดือนต่อปี แต่ปัจจุบันน้ำท่วม 5-6 เดือนต่อปี หรือเมื่อ พ.ศ. 2549 พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมี 10 ล้านไร่ ตอนนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเป็น 27 ล้านไร่ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของธนาคารโลกที่ระบุว่าปี 2011-2045 (พ.ศ. 2554-2588) โลกร้อนจะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรไทยราว 3 ล้านล้านบาท ผลิตพืชต่างๆ ได้น้อยลง เช่น ข้าวน้อยลง 13% มันลดลง 21% อ้อยลดลง 35%