'เพื่อไทย' โชว์ผลงานสภาฯรับร่างกม.ประมง ยกเป็นนโยบาย ทวงคืนเจ้าสมุทร
'เพื่อไทย' โชว์ผลงานสภาฯรับร่างกฎหมายประมง เดินหน้าสู่วาระ 2 'หมอชลน่าน' ยกเป็นนโยบายพรรค ทวงคืนตำแหน่งเจ้าสมุทรกลับมา ด้าน 'ปลอดประสพ' ตำหนิรัฐบาลไม่ได้เป็นสมาชิกEU แต่รับลูกอย่างรวดเร็ว ไร้ประโยชน์
พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวนโยบาย "ประมงโดยพรรคเพื่อไทย" ทันที ที่สภาผู้แทนราษฎร รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. … เมื่อวานนี้ (23 ก.พ.) ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้คำมั่นเป็นเหมาะ หลังจากนี้หากกลับมาเป็นรัฐบาล "นโยบายที่พรรคเพื่อไทยประกาศไปจะกลับนำสู่การขับเคลื่อนให้การประมงไทยกลับมายิ่งใหญ่ประมงไทยจะกลับมาเป็นเจ้าสมุทรอีกครั้ง"
โดยที่ผ่านมาลงพื้นที่และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จึงรับรู้ถึงปัญหาและความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสที่เกิดขึ้นของชาวประมง หลังจากที่รัฐบาล คสช.ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ว่าด้วยการประมง ปี พ.ศ 2558 หวังแก้ปัญหาและรักษาอำนาจให้กับตัวเอง จากข้อเสนอของสหภาพยุโรป หรือ EU เกี่ยวกับการประมงที่ไม่ถูกกฎหมาย ที่ไม่มีการรายงานและไม่มีการควบคุม (IUU Fishing) ส่งผลกระทบมาสู่ประเทศไทย ทำให้ประมงไทยที่เคยรุ่งเรืองอันดับต้นๆของโลกต้องตกอยู่ในลำดับที่น่าอเนจอนาถ กระทบต่อรายได้หลักของประเทศปีละแสนล้าน ต้องสูญหายไป
สำหรับในการพิจารณาในวาระที่ 2 มีการตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาปัญหาการประมง พรรคเพื่อไทยได้โควตาคณะกรรมาธิการ 6 คน เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงจากชาวประมงเป็น 2 คน ได้แก่ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวประมงแห่งประเทศไทย และนายไตรฤกษ์ มือสันทัด นายกสมาคมชาวประมงของจังหวัดชุมพร ซึ่งจะร่วมแสดงความคิดเห็นและวิธีการแก้ไขปัญหาในร่างกฎหมายดังกล่าวนี้เพิ่มเติม และเลือกร่างของพรรคเพื่อไทยนี้เป็นร่างหลัก เพราะมีหลักการที่ครอบคลุมและแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงมากที่สุด
ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี กรรมาธิการฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณ สส. ทั้งสภา รวมถึงฝ่ายรัฐบาลด้วย ที่ได้ช่วยกันลงคะแนนเสียง พ.ร.บ.ประมง ผ่าน ซึ่งวันหนึ่งจะสำเร็จ จะปลดพันธนาการ ความเป็นทาสได้สักที ในฐานะที่เรียนจบด้านประมงและยังเป็นอธิบดีกรมประมงยาวนานที่สุด แต่ก็รู้สึกแปลกใจที่ สส. ฝ่ายรัฐบาล รับทราบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้อง
ขอให้ชาวประมงมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะต่อสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุด และมั่นใจว่าจะชนะทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชาวประมงลำบาก จึงตั้งใจที่จะเอาชนะให้ได้ เพื่อไม่ให้การประมงสูญสลาย เราจะไปเจรจากับอียูอย่างตัวเท่ากัน ภาคอุตสาหกรรมประมงผลิตไปขายยุโรปจำนวนมาก ไม่ต้องกลัว ในชีวิตผมเคยต่อสู้แบบนี้มาหลายครั้ง ขอให้มั่นใจถ้าได้เป็นรัฐบาล
นายปลอดประสพ ยังตำหนิรัฐบาลทหารที่ขายชีวิตชาวประมงเพียงเพื่อให้ได้รับรองไปเยี่ยมประเทศของเขาได้ และขอตำหนิข้าราชการบางคนที่มารังแกพี่น้องชาวประมง
ทั้งนี้ อียูเคยกล่าวหารัฐบาล คสช.ดังนี้
1.ไทยไม่มีกฎหมายประมงที่ตอบสนอง IUU ถือเป็นการหาเรื่อง เพราะ IUU เกิดมาทีหลัง
2.ไทยไม่มีนโยบายประมงทะเล หากไทยไม่มี เราจะเป็นประเทศที่มีการประมงเจริญที่สุดในโลกได้อย่างไร
3. ไทยไม่มีกฎหมายบังคับให้มีอุปกรณ์ติดตามเรือ หรือ VMS ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวเกิดมาภายหลัง ประเทศไทยได้แต่ยอม แต่ไม่มีงบให้ชาวประมงไปจัดซื้อ
4.ไทยไม่มีแผนปฏิบัติการ IUU
5.ไม่มีระบบตรวจสอบย้อนหลัง
นายปลอดประสพ กล่าวว่า ทั้งหมดคือ 5 ข้อกล่าวหา และส่งใบเหลืองให้กับประเทศในเอเชียทั้งหมด ประเทศอื่นๆ ไม่ตอบสนอง แต่ประเทศไทยเดินทางไปต่างประเทศ พร้อมออกกฎ 20 ข้อ จากนั้นทุกปีก็มีการเจรจามา 4-5 ปี แล้วออกระเบียบได้ 100 ข้อ เพื่อสนองคำขอของอียู 5 ข้อ แบบนี้ถือว่าทำไม่ได้ เพราะปัญหาที่เป็นต้นเหตุ คือ 1 ใน 28 ประเทศ เป็นคู่แข่งด้านการประมงของประเทศไทย
อียูประกาศแบบนี้รับรองให้ใน 28 ประเทศเท่านั้น แต่ไทย ไม่ได้เป็นสมาชิกอียู กฎหมายนี้ต้องใช้เขตเศรษฐกิจเฉพาะของอียูเท่านั้น แต่เหตุใดจึงใช้กฎนี้กับประเทศไทย ในขณะที่การรับมือของประเทศอื่นคือ รับฟังแต่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ทันที ส่วนไทยดำเนินการอย่างรวดเร็ว
"รัฐบาลทหารเพียงต้องการสถานะระหว่างประเทศที่แลกมาด้วยชีวิตชาวประมงแสนกว่าคน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาท เรื่องนี้ต้องไว้ใจพรรคเพื่อไทย เราทำได้ เพราะพรรคเพื่อไทยคิดใหญ่ ที่จะเข้าไปแก้ไขกฎหมาย" นายปลอดประสพกล่าว