ข่าว

ลุ้น 'โหวต' พ.ร.ก. อุ้มหายฯ วันพรุ่งนี้ ชี้ชะตา พล.อ. 'ประยุทธ์'

ลุ้น 'โหวต' พ.ร.ก. อุ้มหายฯ วันพรุ่งนี้ ชี้ชะตา พล.อ. 'ประยุทธ์'

27 ก.พ. 2566

'โหวต' พ.ร.ก.อุ้มหายฯ วันพรุ่งนี้ มีผลต่อสถานะนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ. 'ประยุทธ์' หากที่ประชุมไม่ให้ความเห็นชอบ ต้องลาออกตามธรรมเนียม

 

สภาผู้แทนราษฎร เรียกประชุมสภานัดพิเศษ ในวันสุดท้ายของสมัยประชุมโดยมีวาระด่วนเรื่องการให้ความเห็นชอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565พ.ศ.2566 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

 

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลระบุว่า พ.ร.บ. อุ้มหายฯ เป็นกฎหมายที่ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลผลักดันร่วมกันกับภาคประชาสังคม เพื่อคุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิและร่างกายของประชาชนระหว่างถูกควบคุมตัว ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยยืนยันต่อกรรมาธิการฯของสภาเองว่า

เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ทันแน่นอน ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดที่ พ.ร.บ. อุ้มหายฯ จะต้องบังคับใช้แล้ว การออก พ.ร.ก. เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จึงรับฟังไม่ได้ และชัดเจนอยู่แล้วโดยไม่ต้องถามศาล รธน. ว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมิได้เป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด

 

พรรคก้าวไกล มีมติโหวตคว่ำ พ.ร.ก. ฉบับนี้ของรัฐบาล และไม่เห็นด้วยกับการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.ก. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

 

 

ความเป็นมาก่อนสภาเรียกโหวต พ.ร.ก.อุ้มหายฯ

 

พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ให้มีผลบังคับใช้ใน 120 วัน คือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เท่ากับมีเวลา 4 เดือนที่รัฐบาลสามารถเตรียมความพร้อมรับการบังคับช้กฎหมายดังกล่าวได้

  • 14 กุมภาพันธ์ 2566 ก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ราว 1 สัปดาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ก็นำ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมฯ ขอความเห็นชอบจากครม. ให้เลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่เป็นหัวใจสำคัญ ออกไปเป็น 1 ตุลาคม 2566 หรือ เลื่อนไปอีก 7 เดือนเศษ
  • 19 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาค่ำๆ มีประกาศใช้ พ.ร.ก. ในราชกิจจานุเบกษา
  • 21 กุมภาพันธ์ 2566 รองนายกฯ วิษณุ บอกว่า “รัฐบาลกำลังคิดว่าจะส่ง พ.ร.ก.ให้สภา ดีหรือไม่ เพราะจะปิดสมัยประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์”
  • 22 กุมภาพันธ์ 2566 ฝ่ายค้านแถลงต่อสื่อว่า สภายังอยู่ และรัฐธรรมนูญกำหนดว่า เมื่อรัฐบาล ออก พ.ร.ก. ต้องเสนอต่อสภาโดยไม่ชักช้า ในขณะที่ภาคประชาชนขู่ หากไม่ส่งมาสภาในสัปดาห์นี้ สัปดาห์หน้า จะยื่น ปปช. ถอดถอน ครม.ทั้งคณะ
  • 23 กุมภาพันธ์ 2566 12.00 น. รมต. สมศักดิ์ ตอบกระทู้ในสภาว่า หนังสือนำส่ง พ.ร.ก. ยังอยู่ในห้องนายกรัฐมนตรี รอลงนามส่งสภา
    -13.30 น. สมชัย ศรีสุทธิยากร โพสและแถลงข่าวว่า หาก ครม.ไม่ส่ง พ.ร.ก. มาสภา  วันพุธที่ 1 มีนาคม 2566 เวลา 11.00 น. จะไปยื่นถอดถอน ครม. ทั้งคณะ พร้อมเชิญชวนประชาชนไปร่วม
    -16.05 น. จดหมายนำส่ง พ.ร.ก. ลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาถึง รัฐสภาแล้ว
    -18.30 น. ชวน หลีกภัย แจ้ง สส. ว่า วันนี้ ไม่สามารถอ่านพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมได้ เนื่องจากมี พ.ร.ก. เสนอเข้ามา อาจนัดประชุมเรื่องนี้ วันจันทร์ 27 หรือ อังคาร 28 กุมภาพันธ์ 2566
  • 28 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา09.30 น. ประชุมสภานัดพิเศษ นัดลงมติ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565พ.ศ.2566 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

 

 

เลขาธิการพรรคก้าวไกล เห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและผู้กำกับดูแลตำรวจ ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ เพราะการอ้างว่าตำรวจไม่พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายทั้งๆ ที่มีเวลาเตรียมตัวถึง 120 วัน แท้จริงแล้วสะท้อนตัวตนของ พล.อ. ประยุทธ์ที่ไม่ต้องการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิและชีวิตร่างกายของประชาชน ถ้าวันพรุ่งนี้ พ.ร.ก. ถูกคว่ำในสภา พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯทันที เพราะไม่มีความชอบธรรมที่จะรักษาการต่อหลังยุบสภาอีกแล้ว

 

 “ขอให้ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลอย่าเขียนด้วยมือแต่ลบด้วยเท้า ควรลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะแสดงตัวให้ชัดเจนว่าจะอยู่ข้างประชาชน หรืออยู่ข้างผู้นำบ้าอำนาจ และขอเตือนว่าอย่าลักไก่ด้วยการชิงยื่นคำร้องไปยังศาล รธน. เพื่อตัดตอนไม่ให้มีการลงมติกันในสภา เพราะจะแสดงให้ประชาชนเห็นชัดเจนว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีความกล้าหาญและซื่อตรงต่อประชาชนพอที่จะลงมติในสิ่งที่ถูกต้อง แต่เลือกจะปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ และกลัวจะเสียคะแนนนิยมหากต้องโหวตเห็นชอบกับ พ.ร.ก.” ชัยธวัชระบุ